ปีนี้การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยคาดว่าจะมีข้อจำกัดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การจับปลาได้น้อย ค่าของเงินบาท และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวในการแสดงนิทรรศการและประชุมการปลาทูน่าโลกของ Infofish ครั้งที่ 10 หรือที่เรียกว่า Tuna 2008 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ว่า ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของชาวประมง ผู้แปรรูป ผู้จัดหาและผู้ค้าปลีกและแน่นอนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย
อุตสาหกรรมทูน่ามีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในด้านการจ้างงานและเป็นแหล่งนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศที่สำคัญ ไทยเป็นผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่สุดของโลกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากขาดวัตถุดิบ ไทยจึงเป็นประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่สุดของโลกเช่นกัน
ในปี 2550 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเกือบ 500,000 ตันลอลง 5% จากปีก่อนหน้า ตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา ลิบยาและซาอุดิอาระเบีย และนำเข้าปลาทูน่า 730,000 ตัน ลดลง 7% จากปีก่อนหน้า เหตุผลหลักคือปริมาณปลาที่มีจำกัดและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น ยกตัวอย่างราคาของ skipjack อยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเปรียบเทียบกับ 800 - 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปีก่อนหน้า
การสัมมนาสรุปว่า ปลาทูน่าราคาถูกจะเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว เพราะสต๊อคในทะเลที่ลดลงและต้นทุนการจับและส่งไปตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของ FAO การจับปลาทูน่า 5 ชนิด คือ skipjack, yellowfin , bigeye, albacore และ bluefin คงที่ในช่วงปี 2548-2549 และในช่วงปี 2550-2551 ปริมาณการจับคงจะลดลงอีกและคาดว่ายากที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา : Bangkok Post