TH EN
A A A

การประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้และการจัดจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Clean Wood Act) ฉบับปรับปรุงของญี่ปุ่น

28 มีนาคม 2568   

               เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 รัฐสภาญี่ปุ่น (Diet) ได้มีมติเห็นชอบและประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้และการจัดจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า“Clean Wood Act” ฉบับแก้ไข โดยกำหนดระยะเวลาผ่อนผันไม่เกิน 2 ปี ต่อมากระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) ได้เปิดเผยผ่านรายงานประจำปี “Annual Report on Forest and Forestry in Japan” ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มบังคับใช้กฎหมาย Clean Wood Act ฉบับแก้ไขอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

               1.    วัตถุประสงค์: กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้และการจัดจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Clean Wood Act) ประกอบด้วย 9 บท 49 มาตรา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการใช้ไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับไม้ และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงป้องกันผลกระทบจากการตัดไม้ผิดกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ

               2.    นิยามของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้: ภายใต้ Clean Wood Act ได้ให้นิยามคำว่า “ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้” หมายถึงไม้ (รวมถึงไม้ซุง) และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้ โดยต้องเป็นไม้ที่ยังไม่เคยผ่านการใช้งาน และไม่รวมถึงไม้ที่เก็บรวบรวมหรือถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้งาน ทั้งนี้ยังรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ กระดาษ หรือสินค้าอื่น ๆ ที่ผลิตโดยใช้ไม้เป็นวัตถุดิบหลัก รวมทั้งให้คำนิยาม “ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่เก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ว่า คือไม้ที่ผลิตจากต้นไม้ ซึ่งถูกตัดตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศที่มีการตัดไม้เกิดขึ้น

               3.    ขอบเขตการบังคับใช้กับผู้ประกอบการต่างประเทศ: กฎหมาย Clean Wood Act ของญี่ปุ่นครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศญี่ปุ่นด้วย หากบุคคลหรือองค์กรดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกไม้หรือผลิตภัณฑ์ไม้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้แปรรูป หรือผู้ส่งออก จะถือว่าอยู่ในขอบเขตของคำว่า “ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับไม้” ตามที่กฎหมายกำหนด

               4.    หน้าที่ของผู้ประกอบการและการขึ้นทะเบียน: ในด้านการยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับไม้ ซึ่งรวมถึงผู้ผลิต แปรรูป นำเข้า หรือส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Due Diligence) เพื่อยืนยันว่าไม้มีแหล่งที่มาถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชนิดไม้ พื้นที่ที่มีการตัดไม้ และเอกสารรับรองจากประเทศต้นทาง พร้อมทั้งจัดทำและเก็บรักษาบันทึกข้อมูล และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้แก่คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ผู้นำเข้าสามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน” กับหน่วยรับรอง (Certification Body) ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางการค้าในตลาดญี่ปุ่น

               5.    บทลงโทษ: ภายใต้ Clean Wood Act กำหนดไว้สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักแต่ละกลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับไม้ หากไม่ดำเนินการตรวจสอบแหล่งที่มา หรือให้ข้อมูลเท็จ อาจถูกแนะนำ ออกคำสั่ง หรือเปิดเผยชื่อสู่สาธารณะ และหากฝ่าฝืนคำสั่งอาจถูกปรับสูงสุดหนึ่งล้านเยน สำหรับองค์กรรับขึ้นทะเบียน หากไม่ปฏิบัติตามกฎ เช่น ไม่รับขึ้นทะเบียนโดยไม่มีเหตุผล หรือละเลยหน้าที่ในการตรวจสอบ อาจถูกสั่งระงับหรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และหากละเมิดอย่างร้ายแรง เช่น ให้ข้อมูลเท็จ หรือขัดขวางการตรวจสอบ จะมีโทษปรับหรือจำคุก ทั้งนี้ หากเป็นนิติบุคคล องค์กรหรือบริษัทจะต้องรับโทษร่วมกับตัวแทนผู้กระทำผิดด้วย

               6.    มูลค่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น: มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นระหว่างปี 2565 - 2567 เป็นสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ (พิกัดศุลกากร 44) มูลค่าเฉลี่ยปีละ 6,300 ล้านบาท สินค้ากระดาษ (พิกัดศุลกากร 45) มูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท สินค้าเยื่อไม้ (พิกัดศุลกากร 4701 - 4705) มูลค่าเฉลี่ยปีละ 4.5 ล้านบาท และสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้  มูลค่าเฉลี่ยปีละ 2,300 ล้านบาท

                 1 พิกัดศุลกากร 940131 940141 940161 940169 940291 940330 940340 940350 940350 940360 940391

               7.    แนวโน้มกฎระเบียบระดับโลก: นอกจากกฎหมาย Clean Wood Act ของญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Due Diligence) เพื่อยืนยันว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีแหล่งที่มาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สหภาพยุโรป (European Union: EU) ยังมีกฎระเบียบ EU Deforestation Regulation (EUDR) ซึ่งกำหนดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ รวมถึงไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free) และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึง “แปลงปลูก” พร้อมแนบข้อมูลพิกัดภูมิศาสตร์ (geolocation) โดยที่ทั้งสองมาตรการล้วนใช้กลไก Due Diligence เป็นหัวใจสำคัญ ผู้ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยจึงควรเริ่มพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ตั้งแต่ต้นทาง เช่น แหล่งที่มา ชนิดไม้ เอกสารการได้รับอนุญาต และข้อมูล GPS ของพื้นที่ผลิต หากสามารถพัฒนาให้ระบบสอดคล้องกับข้อกำหนดทั้งของญี่ปุ่นและยุโรป ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมี Lacey Act ที่กำหนดให้ไม้ต้องมีแหล่งที่มาถูกกฎหมาย และออสเตรเลียที่มี Illegal Logging Prohibition Act ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องดำเนินการ Due Diligence เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มของการค้าสินค้าไม้ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดสากล

 

 

 

 

 


ที่มา
1.    Act on Promoting the Distribution and Use of Legally Harvested Wood and Wood Products (https://www.rinya.maff.go.jp/j/riyou/goho/english/attach/pdf/english-index-r7-01.pdf)
2.    The Revised Clean Wood Act to be Enacted from April 2025 Report Number: JA7080
3.     Japan Has Proposed Organizations That Can Issue Certification Documents Under the Revised Clean Wood Act Report Number: JA2024-0053

 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?