เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของญี่ปุ่น (CAA) ได้เสนอข้อกำหนดปริมาณสาร Per- and Polyfluoroalkyl (PFAS) ในน้ำแร่ โดยเฉพาะชนิดที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ ข้อเสนอนี้เป็นไปตามการตัดสินใจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น (Ministry of the Environment : MOE) ที่รวม PFOS และ PFOA ไว้ในมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม โดย CAA มีเป้าหมายควบคุมสารทั้งสองชนิดนี้ในน้ำแร่ให้มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 50 ng/L สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับน้ำประปาในประเทศ
และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 CAA ได้แก้ไขมาตรฐานอาหารและวัตถุเจือปนอาหารที่เกี่ยวข้องกับน้ำอัดลม (PFOS และ PFOA) ซึ่งเกี่ยวกับปริมาณ PFOS และ PFOA ที่อนุญาตให้พบใน “ผลิตภัณฑ์น้ำแร่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ” โดยต้องมีปริมาณรวมของสารทั้งสองชนิดต้องไม่เกิน 0.00005 mg/L โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ e – GOV ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2568
คุณภาพน้ำดื่ม
มีนาคม 2563 : กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น (MHLW) ได้กำหนดค่าเป้าหมายชั่วคราวสำหรับการจัดการคุณภาพน้ำ โดยรวมสูงสุดของ PFOS และ PFOA ที่พบต้องไม่เกิน 50 ng/L
กุมภาพันธ์ 2568 : หน่วยงานด้านคุณภาพและสุขาภิบาลของสภาสิ่งแวดล้อมกลาง ได้อนุมัติข้อเสนอเพื่อยกระดับการจัดการคุณภาพน้ำในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายการจัดการค่า PFOS และ PFOA เป็นไปตามมาตรฐานกฎระเบียบ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสารควบคุมหรือปริมาณจำกัดสูงสุดที่ระบุ
รายละเอียดจำเพาะของน้ำแร่ (Mineral Water Specification)
ในประเทศญี่ปุ่นน้ำแร่มักถูกบริโภคแทนน้ำประปา จึงจำเป็นต้องใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำในการควบคุมเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์ สำหรับน้ำแร่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ปริมาณรวมสูงสุดของ PFOS และ PFOAที่สามารถพบได้ ถูกเสนอให้อยู่ที่ 50 ng/L สอดคล้องกับน้ำประปาในประเทศ โดยอ้างอิงตามปริมาณ Tolerable Daily Intake : TDI ซึ่งพิจารณาจากปริมาณการบริโภคน้ำ 2 ลิตร/วัน สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีน้ำหนัก 50 kg.และมีอัตราการรับน้ำสูงสุด 10% ของ TDI
ด้านน้ำแร่ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ จะต้องได้รับการควบคุมที่เข้มงวดกว่า ตั้งแต่กระบวนการรวบรวมน้ำโดยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน Codex สำหรับน้ำแร่ธรรมชาติ แต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกับน้ำประปาในประเทศ
สถานะระหว่างประเทศของ PFAS ในน้ำดื่ม
ปัจจุบันมาตรฐาน Codex ของน้ำแร่ธรรมชาติไม่ได้กำหนดขีดจำกัดสำหรับ PFOS และ PFOA และสหภาพยุโรปได้ยกเว้นสารทั้ง 2 ชนิด จากกฎระเบียบของน้ำแร่ธรรมชาติเช่นกัน
การแก้ไขดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสำหรับ PFOS และ PFOA ในน้ำแร่ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม น้ำแร่ที่ไม่ผ่านการบำบัดต้องได้รับการควบคุมผ่านกฎระเบียบที่เคร่งครัดกว่านี้ และจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของ Codex ต่อไป
ที่มา : Food.chemlinked สรุปโดย : มกอช.