เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 อาร์เจนตินาได้ประกาศกฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออกอาหารหมายเลข 35/2025 (Decree 35/2025) ภายใต้ Código Alimentario Argentino (CAA) ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อลดความยุ่งยากและเพิ่มประสิทธิภาพการค้าผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศ
การปฏิรูปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลอาร์เจนตินาในการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัย โดยยกเลิกขั้นตอนด้านกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนและก่อให้เกิดต้นทุนทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกการซื้อสินค้าและช่วยให้ผู้บริโภคชาวอาร์เจนตินาสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก นอกจากนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินายังมุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์จากอาร์เจนตินาในตลาดต่างประเทศอีกด้วย
สาระสำคัญของ Decree 35/2025 สรุปได้ดังนี้
1. บังคับใช้กับอาหาร เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม หรือวัตถุดิบและสารเติมแต่งอาหารทุกชนิดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันอาหารแห่งชาติของอาร์เจนตินา (INAL) รวมถึงสินค้านำเข้า โดยไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานสุขภาพและคุณภาพด้านเกษตร-อาหาร (SENASA) เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารสัตว์
2. การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและ/หรือบรรจุภัณฑ์ ตามข้อกำหนดต่อไปนี้ จะได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติตาม CAA โดยยื่นใบแจ้งการนำเข้าต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขอนามัยแห่งชาติของอาร์เจนตินา (NSA) เท่านั้น
2.1 ได้รับการรับรองโดยประเทศระบุไว้ในภาคผนวก III ของกฎระเบียบฉบับนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
2.2 มาจากประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน Codex Alimentarius (FAO/WHO)
2.3 มีข้อตกลงทางการค้าร่วมกับอาร์เจนตินาและผ่านการประเมินระบบการควบคุมอาหารจากอาร์เจนตินา
3. ผลิตภัณฑ์อาหารและ/หรือบรรจุภัณฑ์ที่มาจากประเทศ นอกเหนือจากข้อ 2.1 - 2.3 จะต้องกรอกคำขอ “import authorization” เป็นภาษาสเปน โดยระบุข้อมูล เช่น สถานประกอบการ ผลิตภัณฑ์อาหาร สถานที่บรรจุ ฉลากอาหาร และ NSA จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ด้านสุขอนามัยก่อนนำเข้า ทั้งนี้ สินค้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจนกว่าผลการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น
4. สินค้าที่จะส่งออกจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศปลายทางเท่านั้น INAL ไม่สามารถกำหนดข้อกำหนดเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ INAL สามารถออกใบรับรองที่เกี่ยวข้องได้ หากผู้ส่งออกร้องขอ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง
5. กฎระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2568
ที่มา : GAIN report สรุปโดย : มกอช.