TH EN
A A A

ญี่ปุ่นแก้ไขกฎระเบียบการรีไซเคิลอาหาร

29 มกราคม 2568   

                   เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) ได้เผยแพร่ร่างการแก้ไขหลักเกณฑ์สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและการใช้ทรัพยากรอาหาร (Ordinance Defining the Criteria for Food-related Businesses to Make Decisions Regarding the Promotion of Recycling and Utilization of Food Resources) โดยการแก้ไขดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การลดขยะอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการ
   
                   โดยการแก้ไขนี้มีการปรับปรุงมาตรา 3 ที่ระบุถึงความรับผิดชอบของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารในการลดขยะอาหารและขยะที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแก้ไขที่สำคัญดังนี้ :
                   1. ส่งเสริมการบริจาคอาหาร
                       ส่งเสริมให้ผู้ผลิตบริจาคอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้แก่ผู้ที่ต้องการ เช่น บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากความยากจนหรือภัยพิบัติ เพื่อเปลี่ยนขยะที่อาจเกิดขึ้นให้เป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์
                   2. การติดตามและวิเคราะห์ขยะ
                       สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องตรวจสอบและวัดปริมาณขยะอาหารอย่างสม่ำเสมอ โดยแบ่งตามแหล่งที่มา เช่น เศษอาหาร ขยะแปรรูป เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการติดตามแนวโน้มและกำหนดแนวทางการลดขยะ
                   3. แนวทางเฉพาะสำหรับผู้ผลิต
                           o    ปรับปรุงการติดฉลากวันหมดอายุ : ผู้ผลิตต้องใช้การติดฉลากที่ชัดเจนยิ่ง เช่น การแสดงวันที่ในรูปแบบ
                                “ปี – เดือน” เพื่อลดความสบสันและป้องกันการทิ้งอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้โดยไม่จำเป็น
                           o    การยืดอายุการเก็บรักษา : ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อขยายระยะเวลาตั้งแต่ผลิตจนถึงวันหมดอายุ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร

                   นอกจากนี้การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังคงรักษาข้อควรปฏิบัติเดิมที่มีอยู่ เช่น การใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปรับปรุงกระบวนการเก็บรักษาและการกระจายสินค้า รวมถึงลดปริมาณอาหารส่วนเกินระหว่างเตรียมอาหารและการขาย ขณะเดียวกันยังมีการผ่อนปรนระยะเวลาในการส่งมอบสินค้ากับผู้ค้าปลีกและร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ที่มา : Food.chemlinked สรุปโดย : มกอช.

 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?