TH EN
A A A

จีนมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ

20 พฤศจิกายน 2567   

           นับตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกาและจีนกำหนดอัตราภาษีตอบโต้กันในสงครามการค้าในระหว่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ในปี 2566 จีนได้พยายามกระจายการนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มากจนเกินไป และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของตนให้มากขึ้นมาตรการเหล่านี้ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าในสงครามการค้า หากทรัมป์จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60% ในการกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า
         
          ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก ทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันจีนได้ตอบโต้โดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 25% เป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าเป้าหมายหลัก ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว เนื้อหมู ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวฟ่าง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ลดการนำเข้าสินค้าหลักอย่างถั่วหลืองจากสหรัฐฯ จาก 40% เหลือ 18% ในปี 2559 และหันมานำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล ซึ่งกลายเป็นซัพพลายเออร์ข้าวโพดรายใหญ่ของจีนแทนที่สหรัฐฯ จากข้อมูลของกรมศุลกากรจีนระบุว่า ปี 2566 จีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ลดลงเหลือ34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2565 ที่นำเข้า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปีนี้ จีนจะลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ลงอีก

         
          สรุปการดำเนินการของจีนในการกระจายแหล่งอุปทานทางการเกษตร กระตุ้นการผลิตในท้องถิ่น และเสริมความมั่นคงด้านอาหาร: ได้ดังนี้

                     
   วัน/เดือน/ปี               
การดำเนินการ
5 ส.ค. 2562

จีนระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ภาษีที่รัฐบาลทรัมป์กำหนด

16 ม.ค. 2563 ทรัมป์และหลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น ลงนามข้อตกลงการค้า "ระยะที่ 1" โดยจีนตกลง ที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
ปี 2564 จีนเริ่มทดลองปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม (GMO) เชิงพาณิชย์

29 เม.ย. 2564

จีนออกกฎหมายต่อต้านขยะอาหาร เพื่อป้องกันการสูญเสียธัญพืชอย่างสิ้นเปลือง และห้ามวิดีโอโชว์การกินไม่หยุดและอาหารเหลือมากเกินไป
4 ก.พ. 2565 จีนอนุมัติการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์จากทุกภูมิภาคของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก
7 มี.ค. 2565 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศเน้นยำประเด็น ความมั่นคงอาหารของประเทศ เพื่อบรรลุการพึ่งพาตนเองในด้านธัญพืชหลัก
25 พ.ค. 2565 จีนอนุมัติการนำเข้าข้าวโพดจากบราซิล
28 มิ.ย. 2565

จีนออกกฎหมายอนุรักษ์ดินเพื่อเพิ่มการผลิตในพื้นที่ที่สำคัญ

14 เม.ย. 2566

จีนลดสัดส่วนแป้งถั่วเหลืองในอาหารสัตว์จาก 14.5% เหลือน้อยกว่า 13% ภายในปี 2568 และส่งเสริมโปรตีนทางเลือก

4 พ.ค. 2566 จีนอนุมัติถั่วเหลืองที่ผ่านการปรับแต่งยีน (GE) ครั้งแรก เพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งพืช GE จะต่างกับพืช GMO โดยจะไม่นำยีนที่แปลกปลอมเข้าไป แต่จะทำการจัดการจีโนมตามธรรมชาติที่มีอยู่แทน
26 ธ.ค. 2566 จีนออกใบอนุญาตนำเข้าข้าวโพด GMO จากอาร์เจนตินา 2 สายพันธุ์
9 เม.ย. 2567

จีนเริ่มแผนเพิ่มผลผลิตธัญพืชให้ได้มากกว่า 50 ล้านตันภายในปี 2573 โดยในปี 2566 ผลิตได้ 645.41 ล้านตัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด

9 พ.ค. 2567 จีนอนุมัติความปลอดภัยของข้าวสาลีที่ผ่านการปรับแต่งยีน (GE)
28 พ.ค. 2567

จีนอนุมัติการนำเข้าข้าวโพด GMO จากอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

3 มิ.ย. 2567 จีนออกกฎหมายความมั่นคงทางอาหารฉบับแรก เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ความพอเพียงอย่างยั่งยืน”      
25 ต.ค. 2567 จีนเปิดตัวแผนพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (ปี 2567-2571) เพื่อเพิ่มผลผลิตและความแม่นยำในการทำเกษตรกรรม

                             ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของจีนระบุว่า จีนตั้งเป้าที่จะผลิตธัญพืชให้ได้มากกว่า 700 ล้านตันภายในปีนี้ และเพิ่มผลผลิตธัญพืชให้ได้มากกว่า 50 ล้านตันภายในปี 2573  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้าในอนาคต

 

ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.

 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?