กระทรวงเกษตรประมงและป่าไม้ของออสเตรเลีย (DAFF) เสนอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับอาหารนำเข้า 5 รายการ ได้แก่ อินทผลัม เมล่อน เห็ดเข็มทอง ปลาปักเป้าและคาวา (Kava) หลังสำนักงานมาตรฐานอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (FSANZ) ได้เผยแพร่คำแนะนำด้านความเสี่ยงสำหรับอาหารเหล่านี้ โดยได้ระบุถึงอันตรายที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ระดับปานกลางถึงระดับสูง และได้เปลี่ยนประเภทจากรายการอาหารนำเข้าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นรายการอาหารนำเข้าที่มีความเสี่ยงแทน
อาหารนำเข้าทั้ง 5 รายการ จะได้รับการตรวจสอบทั้งหมดในครั้งแรก 100% หลังจากนั้นจะปรับลดเป็น 25% หากอาหารนำเข้าผ่านการตรวจสอบ 5 ครั้งติดต่อกัน และจะลดเหลือเพียง 5% หลังจากที่ผ่านการตรวจสอบติดต่อกัน 20 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% อีกครั้งหากมีการตรวจพบอาหารไม่ผ่านการตรวจสอบ
ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถส่งความคิดเห็นไปยัง DAFF ที่ https://haveyoursay.agriculture.gov.au/new-food-safety-requirements ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2567
อินทผลัม
FSANZ ได้จัดประเภทของอินทผลัมไว้ในรายการอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก อินทผลัมสดอาจก่อให้เกิดไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Hepatitis A virus) ตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงระดับสูง รวมถึงยังมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้องมีใบรับรองการจัดการความปลอดภัยอาหารที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องประกอบการนำเข้า โดยอินทผลัมจะถูกส่งไปตรวจสอบในอัตรา 5% ดังนั้น ปริมาณสารตกค้างสูงสุดของตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน Food Standards Code นอกจากนี้ ยังมีการประเมินด้วยตาเปล่าและการติดฉลากอีกด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2569 เป็นต้นไป และยังไม่มีกำหนดการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Hepatitis A virus)
เห็ดเข็มทอง
FSANZ ได้จัดประเภทของเห็ดเข็มทองไว้ในรายการอาหารที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เนื่องจากมีเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) ส่งผลให้การนำเข้าเห็ดเข็มทองต้องมีการตรวจยืนยันว่ามีฉลากคำแนะนำในการจัดเก็บและวิธีการนำไปประกอบอาหารอย่างเหมาะสม เช่น ต้องแช่เย็นที่อุณหภูมิ 5 °C หรือต่ำกว่า และปรุงอาหารให้สุกอย่างน้อย 2 นาที ในอุณหภูมิขั้นต่ำที่ 70 °C นอกจากนี้ อัตราการตรวจสอบใหม่จะเริ่มต้นที่ 100% และลดลงเมื่อไม่พบเชื้อลิสทีเรีย (Listeria monocytogenes) ในตัวอย่างที่น้ำหนัก 25 กรัม จำนวน 5 ตัวอย่างต่อล็อต โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2568 และอาจมีการจัดการเพิ่มเติมในอนาคต
เมล่อน
FSANZ ได้จัดประเภทของเมล่อนไว้ในรายการอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) และเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) โดยการนำเข้าเมล่อน รวมถึงแตงโม แคนตาลูป แตงโมฮั่นนี่ดิว (Honeydew melons) แตงโมโอเรียนเต็ล (Oriental melon) และพิเอลเดซาโป (piel de sapo) ทั้งแบบสด แบบแช่แข็ง และแบบพร้อมทานแต่ไม่รวมเมลล่อนแบบแปรรูปอื่น ๆ โดยการนำเข้านั้นต้องมีใบรับรองความปลอดภัยของอาหารอย่างถูกต้อง โดยจะถูกส่งไปตรวจสอบในอัตรา 5% ดังนั้น ปริมาณสารตกค้างสูงสุดของตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน Food Standards Code นอกจากนี้ ยังมีการประเมินด้วยตาเปล่าและการติดฉลากอีกด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2569 เป็นต้นไป
ปลาปักเป้า
FSANZ ได้จัดประเภทของปลาปักเป้าทั้งแบบตัวหรือเป็นชิ้นส่วนไว้ในรายการอาหารที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เนื่องจากมีสาร Tetrodotoxin ซึ่งเป็นพิษของปลาชนิดดังกล่าว โดยการนำเข้าปลาปักเป้านั้นต้องมีใบรับรองความปลอดภัยจากประเทศผู้ส่งออก และจะมีการตรวจสอบเอกสาร โดยจะถูกส่งไปตรวจสอบในอัตรา 5% นอกจากนี้ ยังมีการประเมินด้วยตาเปล่าและการติดฉลากอีกด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2570 เป็นต้นไป
คาวา (Kava)
คาวาจากนิวซีแลนด์ทั้งหมดจะถูกตรวจสอบ เนื่องจาก ออสเตรเลียได้แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับคาวาเมื่อปี 2565 แต่นิวซีแลนด์ยังคงใช้ข้อกำหนดเดิม อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบจะลดลงตามประวัติการปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป
ที่มา : Food Safety News สรุปโดย : มกอช.