TH EN
A A A

บราซิลระงับการส่งออกสัตว์ปีกบางส่วน หลังพบโรคนิวคาสเซิล

2 สิงหาคม 2567   

                เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก ได้ประกาศระงับการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกไปยังบางประเทศ หลังจากตรวจพบโรคนิวคาสเซิล (Newcastle Disease) ในรัฐ Rio Grande do Sul ตามประกาศของกระทรวงเกษตรบราซิล

                การระงับในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามควบคุมโรคนิวคาสเซิลที่ได้คร่าชีวิตไก่ในฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐที่อยู่ใต้สุดของบราซิลประมาณ 7,000 ตัว และต้องกำจัดไก่ที่เหลืออีก 7,000 ตัวในฝูง ตามมาตรการควบคุมด้านสุขภาพ

                ทั้งนี้ การระงับการส่งออกชั่วคราวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกของบราซิลจำนวน 50,000 – 60,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ส่งผลเสียเป็นอย่างมาก บราซิลเป็นประเทศที่ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกได้ 1.2 ล้านตัน และส่งออก 430,000 ตันโดยเฉลี่ยต่อเดือน โดยกระทรวงเกษตรของบราซิลกล่าวว่า ข้อจำกัดดังกล่าวอาจจะต้องระงับการส่งออกไก่ทั้งหมดจากบราซิลหรือจำกัดเฉพาะสินค้าที่มาจากรัฐ Rio Grande do Sul เท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกไปยัง 44 ประเทศ รวมถึงจีน อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย

                การแจ้งเตือนประเทศต่าง ๆ ในกรณีโรคนิวคาสเซิลเป็นข้อบังคับภายใต้แนวทางขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ซึ่งในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ระบุว่า พบนกอย่างน้อย 1 ตัวจากตัวอย่างนก 12 ตัวในฝูง ติดเชื้อโรคนิวคาสเซิล ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดปัญหาทางระบบทางเดินหายใจในนก และคร่าชีวิตนก ทั้งนี้ การตรวจสอบโรคดังกล่าวครั้งสุดท้ายในบราซิลเกิดขึ้นในปี 2549 ในรัฐ Amazonas รัฐ Mato Grosso และรัฐ Rio Grande do Sul

 

 


ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.

 

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?