TH EN
A A A

สหภาพยุโรปกำหนดแผนสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2568 – 2570

8 พฤษภาคม 2567   

                    คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2024/989 ว่าด้วยการกำหนดแผนสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2568 – 2570 ใน EU official Journal L series โดยมีรายละเอียดดังนี้
                    1. หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป (EFSA) ได้รายงานผลการสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชในอาหารจากตัวอย่าง 683 รายการ ในสินค้าอาหาร 32 ชนิด โดยพบว่าอัตราการตรวจพบสารปราบศัตรูพืชตกค้างที่เกินค่าอนุโลมสูงสุด (MRLs) อยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 1 โดยมีอัตราคาดเคลื่อนที่ร้อยละ 0.75 ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ มีการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2568 – 2570 เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีต่อผู้บริโภค โดยกำหนดชนิดของสินค้าและสารปราบศัตรูพืชที่ให้ดำเนินการสุ่มตรวจ รวมทั้งจัดสรรปริมาณการสุ่มตรวจระหว่างประเทศสมาชิกฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ โดยกำหนดการสุ่มตรวจขั้นต่ำอย่างน้อย 12 ตัวอย่าง/1 สินค้า/ปี
                    2. ระหว่างปี 2568 – 2570 ประเทศสมาชิกฯ (รวมถึงไอร์แลนด์เหนือ) จะต้องสุ่มตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าสำหรับสารตกค้างครอบคลุมสารปราบศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังในสินค้าพืช จำนวน 196 ชนิด (อาทิ Carbofuran, Chlorpyrifods, Dimethoate, Ethylene oxide, Ghyphosate, Mepiquat และ Omethoate) และในสินค้าสัตว์ จำนวน 29 ชนิด (อาทิ Copper Compounds, DDT และ Fipponil) ตาม Regulation (EU) 2024/989 ภาคผนวก 1
                    3. สินค้าที่ต้องสุ่มตรวจ (แยกเป็นรายปี) มีดังนี้
                    a. ปี 2568 : แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี พีช (รวมถึง แนคทารีนและผลไม้พันธุ์ใกล้เคียง) ไวน์แดงหรือไวน์ขาว ผักสลัด กะหล่ำหัว มะเขือเทศ ผักโขม ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ นมวัว และไขมันหมู
                    b. ปี 2569 : ส้ม แพร์ กีวี ดอกกะหล่ำ หัวหอม แครอท มันฝรั่ง ถั่ว (แห้ง) ข้าวไรย์ ข้าวกล้อง ไขมันสัตว์ปีก  และตับวัว
                    c. ปี 2570 : องุ่น กล้วย เกรฟฟรุ๊ต (ผลไม้ตระกูลส้ม) มะเขือ บรอกโคลี เมล่อน เห็ดจากการเพาะ พริกหวาน/พริกหยวก ข้าวสาลี น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ไขมันวัว และไข่ไก่
                    4. สหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ อิงใช้ Commission Directive 2002/63/EC ว่าด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างในการตรวจหาสารปราบศัตรูพืชในสินค้าพืชและสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำของ Codex Alimentarius เพื่อประกอบการดำเนินงานดังกล่าว รายละเอียดตามเว็บไซต์ ดังนี้ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32002L0063
                    5. ในกรณีที่ประเทศสมาชิกฯ ตรวจพบสารปราบศัตรูพืชที่มีสารออกฤทธิ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ หรือตรวจพบเมทาบอไลต์ การเสื่อมสภาพ หรือปฏิกิริยาใด ๆ ในสินค้า ให้ประเทศสมาชิกฯ นั้น ๆ แจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อทราบ
                    6. การจัดส่งผลการตรวจประเมินสารปราบศัตรูพืชตกค้างฯ ของประเทศสมาชิกฯ จะต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด อาทิ Standard Sample Description version 2 (SSD2) และ Chemical Monitoring Reporting Guideline
                    7. คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้การสุ่มตรวจสารตกค้างในสินค้าทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Commission Delegated Regulation (EU) 2016/127 มาตรา 4 Commission Delegated Regulation (EU) 2016/128 มาตรา 3 และ Commission Directive 2006/125/EC มาตรา 7) จะต้องเป็นไปตามชนิดของสารพิษตกค้างที่กำหนด (residue definitions) ตาม Regulation (EC) No 396/2005 โดยประเทศสมาชิกฯ จะต้องส่งผลการสุ่มตรวจประจำปีภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของปีถัดไป ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ EFSA
                    8. ให้ยกเลิก Implementing Regulation (EU) 2023/731 อย่างไรก็ตาม การสุ่มตัวอย่างในการสุ่มตรวจสำหรับปี 2567 สามารถดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2568
                    9. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:L_202400989

 

ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?