TH EN
A A A

ความคืบหน้ากฎหมายว่าด้วยการห้ามสินค้าที่ได้จากการบังคับใช้แรงงานเข้าสู่สหภาพยุโรป

9 เมษายน 2567   

1) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเห็นชอบร่วมกันต่อร่างกฎหมาย EU Regulation on prohibiting products made with forced labour on the Union Market โดยมีข้อเสนอปรับแก้เพิ่มเติมต่อร่างกฎหมายฯ ฉบับดังกล่าว
 

2) คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับแก้ไขร่างกฎหมายฯ ตามข้อเสนอดังกล่าว (เอกสารแนบ ร่างฉบับปรับปรุง ณ 13 มีนาคม 2567) และอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปพิจารณาในลำดับถัดไป สรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                    2.1 ร่างฉบับนี้ฯ ไม่ปรากฏถ้อยคำที่ระบุเฉพาะเจาะจงอุตสาหกรรมใดเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ไม่ปรากฏถ้อยคำเกี่ยวกับการเกษตรและประมง (Agriculture and Fisheries) และการทำประมง IUU ตามที่คณะกรรมการประมง (Committee on Fisheries) ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566
                    2.2 ประเด็นเพิ่มเติมในร่างกฎหมายที่สำคัญ อาทิ
                    - การขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในตลาดสหภาพยุโรป
                    - เน้นย้ำและขยายความให้กฎหมายครอบคลุมกลุ่มประชากร ผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย บุคคลทุพพลภาพ คนด้อยโอกาสในสังคม คนชนเผ่าพื้นเมือง ผู้อพยพ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องที่มีสถานะไม่มั่นคงและอยู่นอกระบบเศรษฐกิจ
                    - ครอบคลุมการบังคับใช้แรงงานอันเป็นผลจากการดำเนินงานของรัฐ (stated-imposed forced labour) โดยสหภาพยุโรปจะจัดทำบัญชีรายชื่ออุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ที่พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานในลักษณะดังกล่าว และสินค้าในอุตสาหกรรมนั้นและพื้นที่นั้นเข้าข่ายที่จะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม
                    - ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลให้แก่หน่วยงานรับผิดชอบ คือ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล สมาคมใด ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและชี้แจงข้อมูลได้
                    - สหภาพยุโรปจะพัฒนาระบบ Forced Labour Single Portal โดยจะประกอบด้วย Guidelines ข้อมูลอุตสาหกรรมและพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าสินค้า และข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะได้ เป็นต้น
                    - สหภาพยุโรปจะจัดตั้ง A Union Network Against Forced Labour หรือ The Network เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบของสหภาพยุโรป ประเทศที่สาม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานศุลกากร การจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมพัฒนาบุคลากร และการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปร้องขอ
                    - หากพบสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานสินค้านั้นต้องถูกถอนออกจากชั้นวางจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการถูกกัก ณ ด่านนำเข้า และสินค้านั้นจะถูกนำไปบริจาค นำไปหมุนเวียน หรือทำลาย รวมถึงสินค้าที่สำคัญของสหภาพยุโรป (strategic and critical) จะถูกระงับชั่วคราว จนกว่าปัญหาการบังคับใช้แรงงานจะได้รับการแก้ไข โดยผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องชำระค่าปรับ
                    2.3 กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีระยะเปลี่ยนผ่าน 36 เดือน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (จากเดิม 24 เดือน) อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปจะออกแนวทางปฏิบัติ (guideline) ภายใน 18 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

 

3) รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะพิจารณาร่างกฎหมายฯ อีกครั้ง หากได้รับความเห็นซอบ ร่างกฎหมายฯ จะถูกประกาศบังคับใช้ โดยมีเวลาในการปรับใช้กฎหมาย ๓ ปี 
                   ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจคณะกรรมาธิการยุโรปในการสืบสวนห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่ต้องสงสัยว่าจะมีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงกรณีที่สินค้ามาจากประเทศที่สาม โดยถึงแม้ขณะนี้สหภาพยุโรปยังไม่ได้ประกาศรายชื่ออุตสาหกรรมหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านการบังคับใช้แรงงาน แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าสหภาพยุโรปอาจเชื่อมโยงกับสินค้าหรือพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว/สุ่มเสี่ยงกับการบังคับใช้แรงงานได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาร่างฉบับปรับปรุง ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567 ได้ที่เอกสารแนบ

 

ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 4 / สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป สรุปโดย : มกอช.

เอกสารดาวน์โหลด

   ชื่อเอกสาร ขนาด จำนวนดาวน์โหลด   
เอกสารแนบ [ร่างกฎหมายฯ หลังการหารือกับ Parliament.pdf 373 KB 612

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?