TH EN
A A A

อินโดนีเซียตั้งเป้าเป็นแหล่งอาหารของโลก แม้เผชิญความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ

15 มีนาคม 2567   

                    เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ในการอภิปรายเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร และเอกราชของชาติ" ในงาน National Dialogue รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า อินโดนีเซียสามารถเป็นแหล่งอาหารของโลกได้ และในอนาคตอินโดนีเซียจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตอาหารโลกที่เกิดจากผลกระทบของเอลนิโญและวิกฤตการณ์โลกอื่นๆ ในปัจจุบันมีประชากรจาก 44 ประเทศทั่วโลก กว่า 1,000 ล้านคน กำลังถูกคุกคามจากความหิวโหย ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจากข้อมูลการคาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ควรเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเหลืออยู่เพียง 800,000 เฮกตาร์ จาก 1,753,000 เฮกตาร์ ในเดือนมกราคม 2567 เนื่องจากภัยแล้งที่มีความรุนแรงดังกล่าว
                    รมว. Amran กล่าวต่อไปว่า อินโดนีเซียสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหาร จากการปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรได้ เมื่อพิจารณาจากการที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2567 เพิ่มเติมจำนวน 14 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อจัดหาปุ๋ย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ 10 ล้านเฮกตาร์ ที่กระจายอยู่ทั่วอินโดนีเซีย อาทิ เกาะสุมาตราใต้ เกาะกาลิมันตันใต้ เกาะสุลาเวสีใต้ เป็นต้น หากได้รับการบริการจัดการอย่างเหมาะสมในปี 2567 บนพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 1 ล้านเฮกตาร์ สามารถผลิตข้าวได้ 2.5 ตัน จากนั้นในปี 2568 - 2571 จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็น 2 ล้านเฮกตาร์ 3 ล้านเฮกตาร์ 4 ล้านเฮกตาร์ และ 5 ล้านเฮกตาร์ ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายการผลิตข้าวอยู่ที่ 5 ล้านตัน 7.5 ล้านตัน 10 ล้านต้น และ 12.5 ล้านตัน ตามลำดับ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะทำให้อินโดนีเซียสามารถมีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออก และกลายเป็นแหล่งอาหารของโลกได้
                    โดยกระทรวงเกษตรวางนโยบายที่จะเป็นแหล่งอาหารโลก มีแผนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การบรรลุเป้าหมายความพอเพียงด้านอาหารภายในปี 2568 2) ประเทศผู้ส่งออกข้าวภายในปี 2570  3) แหล่งอาหารของโลกในปี 2571 โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ 4 ประการ ที่จะดำเนินการเพื่อเร่งการผลิตอาหารคือ 1) พัฒนาระบบชลประทานการกระจายน้ำโดยผ่านท่อส่งน้ำในพื้นที่เกาะชวา 2) ขยายและใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ 3) แก้ไขปัญหาเรื่องปุ๋ย และ 4) การปรับปรุงระบบการค้า

 

ที่มา : ฝ่ายเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?