เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไต้หวัน (TFDA) ได้แก้ไขข้อกำหนดสำหรับการโฆษณาอาหาร ในกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและสุขอนามัยของอาหาร (Act Governing Food Safety and Sanitation) โดยมีผลบังคับใช้ทันที การแก้ไขครั้งนี้ TFDA ได้เพิ่มบทลงโทษโดยกำหนดค่าปรับตั้งแต่ 40,000 จนถึง 5,000,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อป้องกันการละเมิดการติดฉลากอาหาร การส่งเสริมการขาย และการโฆษณาที่มีเนื้อหาที่เป็นเท็จ เกินจริง ทำให้เข้าใจผิด และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐบาล รวมถึงกำหนดปัจจัยถ่วงน้ำหนัก 4 ประการ เพื่อนำมาพิจารณาจำนวนเงินสุดท้ายของค่าปรับ ประกอบด้วย:
(A) เหตุการณ์ของการละเมิด (ค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งของการละเมิด)
(B) ความตั้งใจในการละเมิด
(C) ระดับอันตรายที่เกิดจากการละเมิด
(D) ปัจจัยในการตัดสินใจอื่น ๆ
จากข้อมูลของ TFDA พบว่าในปี 2566 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหารมากถึง 7,472 คดี โดยมีโทษปรับรวมกว่า 291.39 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน นับว่าเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เวลาออกอากาศรวมของโฆษณาอาหารที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดยังเพิ่มขึ้นทีละน้อย ซึ่งแนวโน้มนี้อาจทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด TFDA จึงแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งการแก้ไขที่สำคัญ มีดังนี้:
1. แก้ไขปัจจัยที่ใช้ในการคิดค่าสัมประสิทธิ์ถ่วงน้ำหนักของระดับอันตรายที่เกิดจากการละเมิด (C) เป็น “1 + C1 + C2” รายละเอียดดังนี้
• C1 คือ ค่าสัมประสิทธิ์ของเวลาในการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์หรือช่องทางการซื้อขายเมื่อเกิน 60 วินาที: (C1 = 1)
• C2 คือ ค่าสัมประสิทธิ์ของการโฆษณาที่มีการรับรองหรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่าง ๆ หรือบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียง หรือเนื้อหาที่มีภาพเปรียบเทียบก่อนและหลัง ภาพประกอบที่มีเนื้อเยื่อของมนุษย์ หรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเท็จ: (C2 = 1)
• 1 คือ ค่าสัมประสิทธิ์ของเหตุการณ์การละเมิด
2. ปรับเพิ่มค่าสัมประสิทธิ์ถ่วงน้ำหนักของปัจจัยในการตัดสินใจอื่น ๆ (D) เป็น “ต้องไม่ต่ำกว่า 1”
ระบบลงโทษแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted Penalty Model) ฉบับแก้ไข
รายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.fda.gov.tw/TC/newsContent.aspx?cid=3&id=30367 (ภาษาจีน)
ที่มา : foodchemlinked/ TFDA สรุปโดย : มกอช.