เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 สำนักงานอาหารและยาของฟิลิปปินส์ได้ออก “(ร่าง) แนวทางการจำแนกวิตามินและแร่ธาตุสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ภายใต้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการจำแนกวิตามินและแร่ธาตุในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้กับผู้ประกอบธุรกิจอาหาร (FBOs) และปรับปรุงปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
1. ความแตกต่างระหว่าง “อาหาร” กับ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร”
• อาหาร (Food) หมายถึง สารหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ไม่ว่าจะแปรรูป (processed) แปรรูปบางส่วน (partially processed) หรือยังไม่แปรรูป (unprocessed) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ รวมถึงเครื่องดื่ม หมากฝรั่ง น้ำ และสารอื่น ๆ ที่รวมไว้ในอาหารในระหว่างการผลิต การเตรียม และการบำบัด
• ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food/Dietary Supplement) หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเสริมอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนผสมอาหาร เช่น วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน สมุนไพร หรือสารอาหารอื่น ๆ ที่มาจากพืชหรือสัตว์ (ทั้งจากธรรมชาติและสังเคราะห์) ตั้งแต่ 1 ชนิด ขึ้นไป เพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคต่อวันให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ฟิลิปปินส์แนะนำ หรือสอดคล้องกับข้อกำหนดขั้นต่ำของมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักจะอยู่ในรูปของแคปซูล ของเหลว เจล ผง หรือยาเม็ดแบบ tablet และ pill และไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นอาหารแบบทั่วไป หรือใช้ทดแทนยารักษาโรค
2. ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับ “อาหารเสริม”
• ใช้เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
• ต้องอยู่ในรูปของแคปซูล ของเหลว เจล ผง หรือยาเม็ดแบบ tablet และ pill และไม่ได้นำไปใช้เป็นอาหารทั่วไป ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องไม่อยู่ในรูปแบบฉีด ยาอมใต้ลิ้น และวิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การนำเข้าทางปากโดยตรง
• ต้องไม่มีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) หรือยา (drug)
• ต้องไม่มีข้อบ่งชี้หรือการกล่าวอ้างในการรักษาโรค
• ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินและแร่ธาตุ ใช้เพื่อการเสริมอาหารแต่ไม่สามารถแก้ไขภาวะขาดสารอาหารได้
• ปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุ ต้องได้รับการตรวจสอบและแก้ไขให้อยู่ระดับที่ปลอดภัยตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันและได้รับการยอมรับ โดยอิงจากการสำรวจการบริโภคอาหารในระดับชาติและการประเมินการสัมผัสของประชากร
3. ปริมาณสูงสุดของวิตามินและแร่ธาตุ
ในตารางที่ 1 ของร่างดังกล่าวได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวิตามินและแร่ธาตุสำหรับผู้ใหญ่ โดยมีวิตามินและแร่ธาตุรวมทั้งสิ้น 26 ชนิด ตัวอย่างเช่น:
ตารางที่ 1
วิตามิน/แร่ธาตุ | ปริมาณสูงสุด |
วิตามิน A (Retinol) | 1,500 ไมโครกรัม RE/วัน |
วิตามิน D | 25 ไมโครกรัม/วัน |
วิตามิน E | 536 มก./วัน (800 I.U./วัน) |
วิตามิน K | 120 ไมโครกรัม/วัน |
วิตามิน C | 1,000 มก./วัน |
วิตามิน B 1 | 100 มก./วัน |
วิตามิน B 2 | 40 มก./วัน |
หมายเหตุ: RE (Retinol equivalent) คือ หน่วยวัดปริมาณวิตามิน A ซึ่ง 1 RE จะเท่ากับ 3.33 หน่วยสากล (IU) ของวิตามิน A
IU (International Unit) คือ หน่วยอ้างอิงสากลที่ใช้เปรียบเทียบประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์แต่ละตัวเมื่อยาหรือวิตามินแตกตัวในร่างกาย ซึ่ง 1 IU ของยาหรือวิตามินแต่ละประเภทจะมีปริมาณสารออกฤทธิ์ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน
4. ข้อกำหนดในการติดฉลาก
ต้องระบุคำแนะนำสำหรับผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เกินปริมาณสูงสุดต่อวันที่แนะนำ โดยข้อความดังกล่าวไม่ควรแนบมากับข้อความหรือแสดงนัยยะใด ๆ ที่บ่งบอกว่าอาหารเสริมชนิดนั้นสามารถทดแทนอาหารทั่วไปหรืออาหารอื่น ๆ ได้
5. ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
เมื่อร่างได้รับการอนุมัติ ใบรับรองการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ (CPRs) ของอาหารและอาหารเสริมที่ผู้ประกอบการมีอยู่เดิมจะหมดอายุภายใน 5 ปี นับจากวันที่กฎดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องยื่นคำขอเบื้องต้นก่อน CPR เดิมจะหมดอายุ และ CPR ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ตามแนวปฏิบัติอาจต่ออายุได้สูงสุด 2 ปี เพื่อให้มีเวลาสำหรับการปรับเปลี่ยน และหากฉลากสินค้าคงคลังยังคงอยู่ในระหว่างการยื่นขอรับและการอนุมัติ CPR จะสามารถยื่นขอสิ้นสภาพได้ภายใน 6 เดือน
ที่มา : foodchemlinked สรุปโดย : มกอช.