มุมมองของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้จีโนมหรือการดัดแปลงพันธุกรรม
แม้ว่าผู้ที่สนับสนุนการปรับแก้จีโนมหรือการดัดแปลงพันธุกรรมจะมองเทคโนโลยีดังกล่าวว่าเป็นการแก้ปัญหาการขาดอาหารที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้อย่างเร็วที่สุด แต่
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ทางออกดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของภาวะโลกร้อน แถมยังสร้างผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ตามมา เช่น เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการผลิตได้ ต้องผลิตส่งธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่อย่างเดียว นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมอีกว่า "จริง ๆ แล้วคำถามคือ จะแก้ปัญหาอะไร ถ้าโลกร้อนทำให้อาหารน้อยก็ต้องเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร โดยให้ชาวนามีอำนาจในการปลูกอาหารเอง" เช่นเดียวกันกับ
ผู้ที่มองว่า การปรับแก้จีโนมยังอยู่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มศึกษา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงลำดับยืนเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการอาจมีข้อจำกัดและความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากมียืนบางส่วนที่เรายังไม่รู้หน้าที่การทำงาน ดังนั้น การปรับแก้จีโนมต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกันกับจีเอ็มโอและต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดและผ่านกระบวนการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพก่อน
สิ่งที่จะนำมากล่าวอ้างว่า "มันคือจีเอ็มโอ" คือ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปได้ ตัดสินว่าการดัดแปลงสิ่งมีชีวิตโดยใช้การปรับแก้จีโนม ถือว่าเป็นการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ จีเอ็ม ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวหมายความว่า อาหารทุกชนิดที่ผลิตขึ้นมาโดยใช้วิธีการปรับแก้ยีนจะเข้าข่ายจีเอ็มโอและยังรวมไปถึงสาขาอื่น ๆ เช่น การรักษาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ และสัตว์ที่ดัดแปลงพันธุกรรม โดยการตัดสินดังกล่าวมาจากการที่สหภาพเกษตรกร Confédération Paysanne ในประเทศฝรั่งเศสยื่นฟ้องในกรณีที่เมล็ดพันธุ์ที่ต้านสารเคมีกำจัดวัชพืชมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะถูกสร้างมาโดยวิธีใดก็ตาม
มุมมองของ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง
การแก้ปัญหาโลกร้อน มี 2 แนวคิด คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน และการลดผลกระทบที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งการผลิตพืชจะได้รับผลกระทบใน 2 ประเด็นหลัก คือ สภาวะแล้ง และถ้าแล้งยาวนานก็จะมีผลต่อความเค็มของดินที่เพิ่มขึ้น และการระบาดของศัตรูพืช การปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในหลากหลายวิธีที่ใช้ในการลดปัญหาโลกร้อน
การปรับปรุงพันธุ์พืชที่ทำอยู่ต้องใช้เวลานาน อาจมากกว่า 5 - 10 ปี จึงจะได้พันธุ์ใหม่ตามต้องการ ซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการระบาดของศัตรูพืชที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้พันธุ์ที่ต้องการเร็วขึ้น เทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้กันในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจาก เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) และล่าสุด คือ เทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยืน (gene editing)
เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่นให้กับสิ่งมีชีวิตที่ต้องการ ในกรณีของพืชจะเรียกว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่าพืชจีเอ็มหรือจีเอ็มโอ แม้ว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะได้รับการพิสูจน์ยืนยันว่ามีความปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของมนุษย์ และมีความปลอดภัยเทียบเท่าอาหารปกติ แต่ก็ยังมีความห่วงกังวลในความไม่ปลอดภัยที่อาจจะมีขึ้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ยังมีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมมากกว่า 1,000 ล้านไร่ทั่วโลก ใน 29 ประเทศ และมีการนำไปใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารสัตว์และการแปรรูปมากกว่า 70 ประเทศ
เทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยืนเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ใช้เพื่อเพิ่ม ตัดออกหรือเปลี่ยนแปลงยืนเฉพาะจุดหรือหลายจุด ซึ่งส่งผลทำให้ยืนทำงานได้ไม่เต็มที่ ยืนหยุดทำงานหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับการเกิดการกลายพันธุ์ในธรรมชาติหรือการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยการฉายรังสีหรือการใช้สารเคมี แต่ที่สำคัญคือไม่มีการถ่ายฝากยืนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้ไม่มีความห่วงกังวลในความไม่ปลอดภัยที่อาจจะมีขึ้น ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ใช้มะเขือเทศที่ผ่านการแก้ไข/ปรับแต่งยืน เพื่อให้มีสารกาบาสูงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง ถั่วเหลืองที่มีกรดโอเลอิกสูง เห็ด แชมปิญองที่ไม่เปลี่ยนสี คาโนล่าที่มีน้ำมันสูง ข้าวที่ต้านทานโรคขอบใบแห้งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและอื่น ๆ อีกมากที่กำลังจะตามมา
การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยืน เป็นเทคโนโลยีที่ทำงานได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ซึ่งนักวิจัยภาครัฐสามารถดำเนินการได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัท ใหญ่ ๆ จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการพัฒนาพันธุ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรในประเทศได้ และจัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการใช้พันธุ์เพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตรกร เพราะถ้าไม่มีพันธุ์ที่ทนแล้งและพันธุ์ที่ต้านทานศัตรูพืช ความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตรกรจะเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ความสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยืนมาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืชจะขึ้นอยู่กับความรู้เกี่ยวกับลำดับ ดีเอ็นเอและการระบุตำแหน่งยืน ซึ่งมีการศึกษากันมานานแล้วและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ (https://ncbi.nlm.nih.gov/genome/browse#!/overview/) นั่นก็หมายความว่า ทั้งหน้าที่ ทั้งตำแหน่งและทั้งลำดับดีเอ็นเอของยีน จะต้องรู้ก่อนที่จะทำการแก้ไข/ปรับแต่งยืนดังกล่าว และที่สำคัญไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น จึงไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ ซึ่งหลายประเทศมีความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นว่าพืชแก้ไข/ปรับแต่งยืนที่ไม่มีดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ควรกำกับดูแลเหมือนกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่ให้มีการกำกับดูแลเช่นเดียวกับพืชที่มาจากการปรับปรุงพันธุ์แบบเดิม
แม้ว่าที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปจะได้ตัดสินว่าการดัดแปลงสิ่งมีชีวิตโดยใช้การแก้ไข/ปรับแต่งยีนหรือจีโนม ถือว่าเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ แต่ก็จะต้องพิจารณาในรายละเอียด นั่นคือ กฎหมายของสหภาพยุโรปตอนนี้มีเฉพาะเรื่องจีเอ็มโอ ดังนั้นศาลจึงมีเครื่องมืออยู่เท่านั้นในการตัดสินออกมาดังกล่าว ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปได้พยายามออกข้อเสนอเพื่อคลายกฎที่เกี่ยวกับการแก้ไข/ปรับแต่งยืนในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 แม้ว่าจะไม่ได้รับเสียงข้างมากก็จะพยายามผลักดันเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษที่เคยอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ผ่านพระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางพันธุกรรม (การปรับปรุงพันธุ์ด้วยความแม่นยำ) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 และกลายเป็นกฎหมายอย่างเป็น ทางการ พระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมทั้งพืชและสัตว์ที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยความแม่นยำด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การ แก้ไข/ปรับแต่งยืน รวมทั้งแนะนำระบบการกำกับดูแลแบบใหม่ที่อิงตามวิทยาศาสตร์และมีความคล่องตัว เพื่ออำนวยความสะดวกในการวิจัยและนวัตกรรมให้มากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษากฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)
ที่มา : สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ สรุปโดย : มกอช.