Food loss และ Food waste คือ อาหารที่ไม่ถูกบริโภค เป็นเรื่องได้รับความสนใจและถกเถียงกันในระดับนานาชาติมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชากรและสภาพแวดล้อมของโลก
Food loss และ Food waste คืออะไร ต่างกันอย่างไร?
คำตอบมีอยู่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับผู้ให้คำนิยามซึ่งมีอยู่หลายภาคส่วน หลายองค์กร และหลายหน่วยงาน ถ้าใช้สายโซ่อุปทานของอาหารเป็นตัวตั้ง Food loss คือการสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิตก่อนถึงขั้นตอนการจำหน่ายและบริโภค หน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ เช่น องค์การอาหารและเกษตร (FAO) และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (UNEP) นั้น นิยามว่า Food loss คือการสูญเสียอาหารระหว่างขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงการจำหน่าย ส่วน Food waste เกิดขึ้นตั้งแต่การจำหน่ายจนถึงการบริโภค แต่ในความเห็นของ World Food Program USA นั้น Food loss คือการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา เช่น การสูญเสียในไร่นาอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ การสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวเนื่องจากขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการก็บเกี่ยว การสูญเสียระหว่างการเก็บรักษา ถูกทำลายโดยแมลงและสัตว์ชนิดต่าง ๆ เกิดการเน่าเสียเนื่องจากขาดสถานที่และอุปกรณ์ในการเก็บรักษา
“เห็นได้ชัดว่า Food loss เกิดในขั้นตอนการผลิตอาหารส่วน Food waste เกิดในขั้นตอนการใช้ประโยชน์จากอาหารที่ผลิตได้”
ส่วนใหญ่แล้ว Food loss จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อย ขาดข้อมูล ขาดเทคโนโลยี ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม รวมถึงขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วน Food waste เป็นการสูญเสียอาหารที่เกิดขึ้นหลังจากที่อาหารถึงผู้จำหน่ายและผู้บริโภคแล้ว เช่น การคัดทิ้งของผู้จำหน่ายและอาหารที่เหลือทิ้งทั้งที่ยังบริโภคได้จาก บ้านเรือน ภัตตาคาร และร้านค้า ส่วนใหญ่เกิดในประเทศที่มีรายได้สูง
Food loss และ Food waste สำคัญอย่างไร?
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่าในแต่ละปีมีอาหารที่สูญเสียและเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 ของที่ควรจะใช้บริโภค หรือประมาณ 13,000 ล้านตัน ในขณะที่มีผู้คนทั่วโลกประมาณ 800 ล้านคนที่เข้านอนทั้ง ๆ ที่ท้องยังหิว ประมาณว่าเกษตรกรในทวีปแอฟริกาสูญเสียอาหารกว่า 40 เปอร์เซ็นต์หลังจากการเก็บเกี่ยวเพราะถูกทำลายจากศัตรูชนิดต่าง ๆ และขึ้นรา เนื่องจากวิธีการและสถานที่การเก็บรักษาไม่เหมาะสม ในขณะที่อาหารเหลือทิ้งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วจะถูกนำไปทิ้งเป็นขยะเพื่อฝังกลบ ซึ่งการฝังกลบนี้ทำให้เกิดการย่อยสลายที่ไม่สมบูรณ์และเกิดก๊าซมีเทนเป็นปริมาณมาก ซึ่งโมเลกุลของก๊าซนี้สามารถดักจับความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบทบาทของอาหารที่ถูกนำไปฝังกลบในด้านการทำให้โลกร้อนนั้นมีมากกว่าที่ทุกคนคาดคิด
การแก้ปัญหา Food loss และ Food waste
องค์การสหประชาชาติตระหนักดีถึงความสำคัญของ Food loss และ Food waste โดยได้บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ 12 จากทั้งหมด 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศให้ความเห็นชอบในปี 2558 โดยทุกประเทศให้คำมั่นว่าจะไปช่วยกันดำเนินการตามแผนงานที่ได้ร่างกันไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2573
“การแก้ปัญหาการสูญเสียอาหารหรือ Food loss นั้นมีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นแม่งานส่วนการแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งหรือ Food waste นั้นมีองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นแม่งาน”
ในประเทศไทยนั้นเห็นได้ชัดว่าเกิดการสูญเสียอาหารเกิดขึ้นทั้งสองกรณีไม่ว่าจะใช้นิยามใด โดย Food loss นั้นส่วนใหญ่เกิดในชนบทซึ่งเป็นภาคการผลิตอาหารและต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น การระบาดของโรค แมลง ภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากความสามารถในการจัดการ ส่วน Food waste นั้นเกิดในเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ และศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีอาหารเหลือทิ้งจากภัตตาคาร บ้านเรือนจำนวนมากในแต่ละวัน นับเป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองจากมุมเศรษฐศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อม ความสูญเปล่านี้สามารถลดลงได้โดยการจัดการที่ดี
ในการแก้ปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งอย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเป็นขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหา ส่วนความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้จะมีมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับการผลักดันและการขับเคลื่อนโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั่นเอง
ที่มา : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) สรุปโดย : มกอช.