จีนได้อนุมัติให้บริษัทเมล็ดพันธุ์กลุ่มแรกที่จะสามารถเพาะพันธุ์และจัดจำหน่ายข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม (GMO) ซึ่งจะปูทางไปสู่การปลูกธัญพืช GMO ในเชิงพาณิชย์ และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนได้ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทท้องถิ่น 26 แห่ง เพื่อผลิต จัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ GMO ในบางจังหวัดของจีน โดยถือเป็นบริษัทชุดแรกที่ได้รับใบอนุญาตในการผลิตและดำเนินกิจการสำหรับข้าวโพดและถั่วเหลือง GMO แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการระมัดระวังเกี่ยวกับเทคโนโลยี GMO แต่จีนได้ดำเนินการเปิดตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป และได้อนุมัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากกว่า 10 รายการตั้งแต่ปี 2562 เพื่อลดการนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้การปลูกพืช GMO ในเชิงพาณิชย์ยังช่วยลดการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล
แหล่งอุตสาหกรรม 3 แห่งของจีน เผยว่า ในปี 2567 ผู้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของจีนกำลังเตรียมการปลูกข้าวโพด GMO ประมาณ 670,000 เฮกตาร์ใน 8 จังหวัด สูงกว่าปริมาณการเพาะปลูกในปี 2566 ถึงสองเท่า อย่างไรก็ตาม จีนยังคงคาดหวังที่จะควบคุมการปลูกพืชแบบ GMO อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เผยว่า ในปี 2566 มีการทดลองปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง GMO ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทำให้สรุปได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีความจำเป็น
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.