TH EN
A A A

สรุปประเด็นการเกษตรและอาหารภายใต้ COP 28

11 มกราคม 2567   

                    ผู้นำทั่วโลกกว่า 159 แห่ง ได้ร่วมกันลงนามในถ้อยแถลงด้านการเกษตรยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) ซึ่งเป็นปฎิญญาสำคัญว่าจะจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตอาหารและการเกษตรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 28 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ภาพรวมด้านการเกษตรและอาหารจากการประชุม COP28 
                    • ระบบอาหารเป็นปัจจัย 1 ใน 3 ของโลกที่มีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก 
                    • สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวจากอาหารรายใหญ่ที่สุด ร่วมลงนามในปฎิญญาแล้ว
                    • ธนาคารโลกระบุว่าได้ให้การสนับสนุน 15 ประเทศในการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ถึง 10 ล้านตันในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า ในการผลิตข้าว ปศุสัตว์ และการจัดการของเสีย

 

เป้าหมายของถ้อยแถลงด้านการเกษตรยั่งยืนฯ ที่ตกลงร่วมกัน
                    ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเร่งรัดกระบวนการผนวกประเด็นการเกษตรและระบบอาหารเข้าสู่ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยภายในปี 2025 จะต้อง:
                    • ผลักดันการผนวกประเด็นการเกษตรและระบบอาหารในแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง (National Adaptation Plans, Nationally Determined Contributions, Long-term Strategies, National Biodiversity Strategies and Action Plans) ก่อนเริ่ม COP30
                    • ทบทวนนโยบายและการสนับสนุนที่เกี่ยวกับการเกษตรและระบบอาหารเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาด้านความยืดหยุ่น ผลิตภาพ คุณภาพชีวิต โภชนาการ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ สุขภาพสัตว์และระบบนิเวศน์ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร การสูญเสียและเสื่อมสภาพของระบบนิเวศน์
                   • ยกระดับการเข้าถึงทางการเงินในทุกรูปแบบ สำหรับภาครัฐ การกุศล และภาคเอกชน ที่จะช่วยในการปรับตัวและเปลี่ยนโฉมหน้าของการเกษตรและระบบอาหาร ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                   • เร่งรัดและยกระดับนวัตกรรมที่จะเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืนและเพิ่มการผลิตของภาคเกษตร ส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศน์ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสำหรับชุมชนในชนบท ผู้ประกอบการรายย่อย ครอบครัวเกษตรกร และผู้ผลิตอื่น ๆ
                   • เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่มีกติการองรับ (rules-based) ไม่เลือกปฏิบัติ (non-discriminatory) เปิดกว้าง (open) ยุติธรรม (fair) ครอบคลุม (inclusive) เท่าเทียม (equitable) และโปร่งใส (transparent) โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลางสำคัญ

 

ความเห็นจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
                   • เอ็ดเวิร์ด ดาวี่ หัวหน้าฝ่ายกลุ่มวิจัยสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “คำประกาศดังกล่าวส่งสัญญาณที่ทรงพลังไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า เราจะสามารถรักษาเป้าหมายไว้ที่ 1.5 องศาได้ หากเราดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อเปลี่ยนระบบอาหารทั่วโลกไปในทิศทางของความยั่งยืนและความยืดหยุ่นที่มากขึ้น”
                  • เอสเธอร์ เปนูเนียน หัวหน้าสมาคมเกษตรกรแห่งเอเชีย (Asian Farmers' Association) ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกร 13 ล้านคน เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "เหตุการณ์สำคัญ" นอกจากนี้ เธอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนคำสัญญาในปฎิญญาดังกล่าวให้เป็นนโยบายแท้จริง และกล่าวว่า จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตอาหารถึงหนึ่งในสามของโลก แต่ต้องอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง

 

ความเห็นจากผู้นำประเทศ
                  ผู้นำโลกกล่าวปราศรัยในการประชุม โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเตือนถึงผลกระทบต่อประชาชนในประเทศของตน
                  • กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงเน้นย้ำถึงสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหนึ่งปี ซึ่งขณะนี้ ได้รับการยืนยันแล้วว่า โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีการตรัสว่า “พวกเรากำลังอยู่ในการทดลองที่น่าตระหนกในการเปลี่ยนแปลงทุกส่วนของระบบนิเวศน์ในคราวเดียว ในระดับที่เกินกว่าความสามารถของธรรมชาติจะรองรับได้” และตรัสสรุปว่า “โลกไม่ได้เป็นของเรา แต่เราเป็นของโลก”
                  • ประธานาธิบดีลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการเจรจาในอีก 2 ปีข้างหน้า กล่าวกับที่ประชุมว่า โลกจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม “มนุษยชาติทนทุกข์ทรมานจากภัยแล้ง โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันทางตอนเหนือของบราซิล ซึ่งกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ที่มา : cop28/ BBCl สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?