รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของซิมบับเว คาดว่า ในปี 2567 การเก็บเกี่ยวข้าวโพดในซิมบับเวจะลดลงเหลือ 1.1 ล้านตัน จากความต้องการบริโภคประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งการขาดแคลนธัญพืชจำนวนมากนี้จะคุกคามความมั่นคงอาหารของครัวเรือนที่ยากจน
เครือข่ายระบบเตือนภัยล่วงหน้าภาวะทุพภิกขภัย (FEWS NET) ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ระบุว่า ในระหว่างปี 2567-2568 รัฐบาล ผู้บริจาค และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความต้องการอาหารที่สูงขึ้นในซิมบับเว มาลาวี โมซัมบิก และมาดากัสการ์ เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่ขัดขวางการทำเกษตรกรรม
เอลนีโญ เป็นปรากฎการณ์สภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติที่น้ำผิวดินในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออกอุ่นขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชในฤดูเกษตรกรรมปี 2566/67 ภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในระยะยาวของซิมบับเวรุนแรงขึ้น และเกษตรกรต้องชะลอการเพาะปลูกเมล็ดพืชหลักออกไป
เมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีของซิมบับเว เผยว่า ขณะนี้ประเทศมีพื้นที่ปลูกพืชฤดูร้อนเพียง 95,156 เฮกตาร์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นธัญพืช ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากจาก 456,707 เฮกตาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ระหว่างการบรรยายสรุปของธนาคารโลกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของซิมบับเวในปี 2567 ณ กรุงฮาราเร ประเทศซิมบับเว เผยว่า ภาคการเกษตรของซิมบับเวจะหดตัว 4.9% ในปีหน้าเนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากเอลนีโญ และข้าวโพดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีผลผลิตประมาณ 1.1 ล้านตัน ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 Ncube เผยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของซิมบับเวในปี 2567 จะชะลอตัวลงเหลือ 3.5% จาก 5.5% โดยมีสาเหตุหลักจากภัยแล้ง
ที่มา : Reuters : สรุปโดย : มกอช.