เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 รัฐบาลกลางแคนาดาได้ประกาศร่างระเบียบฉบับใหม่ภายใต้กฎระเบียบระบบเครดิตชดเชยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Offset Credit System Regulations) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากการย่อยอาหารของโคเนื้อ โดยเรียกร่างดังกล่าวในชื่อ ระเบียบการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการหมักในลำไส้โคเนื้อ (Reducing Enteric Methane Emissions from Beef Cattle: REME) โดยให้ผู้ปฏิบัติงานลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากโคเนื้อ แลกกับเครดิตชดเชย โดยแต่ละเครดิตจะเท่ากับหนึ่งเมตริกตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ลดลงหรือถูกกำจัดออกจากบรรยากาศตามข้อบังคับ
กิจกรรมภายใต้ระเบียบ REME จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาต่อหน่วยเนื้อวัวที่ผลิตโดยการปรับปรุงสมรรถภาพของสัตว์ (Animal Performance) หรือจากการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากโคโดยตรง ทั้งนี้ การใช้อาหารสัตว์หรือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งช่วยลดการผลิตมีเทนในลำไส้โดยตรงจะไม่เข้าเกณท์ ยกเว้นจะมีการปรับปรุงสมรรถภาพของสัตว์ด้วย นอกจากนี้ จะไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างการเลี้ยงแทะเล็ม (Cattle Grazing) หรือจากโคนมได้ อย่างไรก็ตามอาจมีการนำมาพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคต
กิจกรรมที่เป็นไปตามเงื่อนไข อยู่ในขอบเขตต่อไปนี้
• การปรับปรุงการจัดการ อาทิ การปรับปรุงสุขภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น การติดตาม การคัดแยก การให้อาหารแบบกำหนดเอง และความสะอาดของคอก
• การปรับรูปแบบอาหาร เช่น การลดปริมาณพืชในอาหารสัตว์ การปรับปรุงคุณภาพพืชอาหารสัตว์ หรือการเพิ่มลิพิดเสริมลงในอาหาร (ลิพิดเสริมจะต้องไม่ย่อยสลายในกระเพาะรูเมน และต้องเป็นส่วนที่เพิ่ม นอกเหนือจากปริมาณลิพิดปกติของอาหาร)
• วัตถุเจือปนอาหาร เช่น ไอโอโนฟอร์ (Ionophores) ยีสต์ น้ำมันหอมระเหย หรือสารเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอื่น ๆ
• สารส่งเสริมการเจริญเติบโต เช่น beta-agonists หรือ การฝังฮอร์โมน เพื่อปรับปรุงการเจริญเติบโตของสัตว์และ/หรือประสิทธิภาพการใช้อาหาร
• กลยุกธ์เชิงนวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารหรือสมรรถภาพของสัตว์
การคัดเลือกทางพันธุกรรม (การผสมพันธุ์หรือการจัดหาสัตว์ที่มีการปรับปรุงพันธุกรรมซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน และ/หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหาร) ถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในขอบเขตของระเบียบฉบับนี้เมื่อใช้ร่วมกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ระบุไว้ข้างต้นเท่านั้น
ร่างระเบียบ REME ข้างต้น ยังกำหนดวิธีการวัดปริมาณอย่างเข้มงวดซึ่งต้องปฏิบัติตามเพื่อวัดปริมาณระดับเส้นฐาน (Baseline) รวมถึงคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปใช้ในภายหลังเพื่อวัดปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากโครงการ นอกจากนี้ ระเบียบยังรวมถึงวิธีการวัดและข้อกำหนดในการรายงานอีกด้วย ทั้งนี้ร่างระเบียบฯ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงฤดูร้อนของปี 2567
ที่มา : GAIN สรุปโดย : มกอช.