TH EN
A A A

แจ้งเตือนพบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในทุเรียนส่งออก

2 มกราคม 2567   

                    ในรอบปี 2566 ไทยส่งทุเรียนไปขายยังตลาดต่างประเทศมากกว่า 40 ประเทศ มูลค่าสูงกว่าหนึ่งแสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุเรียนที่ส่งออกอยู่ในรูปของทั้งทุเรียนผลสดและแช่แข็ง ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของการส่งทุเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งทุเรียนผลสดไปยังตลาดต่างประเทศคือโรคผลเน่าของทุเรียนซึ่งมีสาเหตุจากการเข้าทำลายของเชื้อรา ที่ผ่านมาผู้ส่งออกแก้ปัญหาโดยการชุบผลทุเรียนในสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช บางครั้งใช้สารหลายชนิดผสมกัน ในอัตราความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ใช้อัตราความเข้มข้นที่สูง ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ในช่วงเวลาระหว่าง 2561-2566 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนเรื่องการตรวจพบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในทุเรียนมากกว่า 30 ครั้ง โดยถูกแจ้งเตือนจาก สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐเกาหลี สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศปลายทางตรวจพบ ได้แก่ Metalaxyl Prochloraz  Procymidone Azoxystrobin Carbendazim และ Methamidophos  สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 5 ชนิดแรกเป็นสารฆ่าเชื้อรา (fungicide) ส่วนชนิดที่ 6 เป็นสารฆ่าแมลง (insecticide) ปริมาณที่ตรวจพบเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า ทำให้ไม่สามารถนำเข้าไปจำหน่ายได้ และผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการส่งกลับหรือทำลายทุเรียนเหล่านี้ เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งทางด้านการค้าและภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย
                    เป็นที่น่าสังเกตว่า สารฆ่าแมลง Methamidophos ซึ่งมีการตรวจพบโดยสาธารณรัฐเกาหลีนั้นจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย 2535 ซึ่งทางการห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง ส่วนสาร Procymidone นั้นหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาห้ามขึ้นทะเบียนเนื่องจากมีรายงานว่าเป็นสารที่ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endocrine disruptor) แต่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ชุบผลองุ่นได้ ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของทุเรียนไทยนั้นอนุญาตให้ใช้ Prochloraz และ Carbendazim ในผลไม้หลายชนิด แต่ในทุกประเทศที่กล่าวมายังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสารหลายชนิดที่เกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยใช้กับทุเรียน จึงสรุปได้ว่า สาเหตุที่ประเทศปลายทางปฏิเสธการนำเข้าทุเรียนจากไทยเนื่องจากตรวจพบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในทุเรียนมีอยู่สองประการคือ ประการแรก ผู้ประกอบการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศผู้นำเข้าไม่อนุญาตให้ใช้ และประการที่สอง ผู้ประกอบการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ความเข้มข้นเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดไว้

                    ดังนั้น ถ้าผู้ส่งออกจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะสารฆ่าเชื้อรา เพื่อป้องกันโรคผลเน่าและยืดอายุการวางจำหน่ายในฤดูการผลิต 2567 และต่อๆไป ผู้ส่งออกก็ควรศึกษาให้มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับผลทุเรียนของประเทศปลายทางก่อนจะเลือกใช้สารดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจดังที่ผ่านมาในอดีต ในการนี้ ผู้ส่งออกสามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เช่น หน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งผู้ส่งออกจะได้รับข้อมูลสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคผลเน่าทุเรียนอีกด้วย
 

ที่มา : มกอช. สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?