เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 กระทรวงศาสนาอินโดนีเซีย (Ministry of Religious Affairs – MoORA โดยนาย Muhammad Aqil Irham หัวหน้าหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Badan Penyelenggara Jaminan Produk Halal - BPJPH) และนาย Hisham S. Aljadhey ประธานองค์การอาหารและยาแห่งซาอุดิอาระเบีย (Sadudi Food and Drug Authority: SFDA) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding - MoU) ว่าด้วยความร่วมมือในการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Cooperation in the Quality of Halal Product Assurance) ซึ่งการลงนาม MOU ดังกล่าวมีประธานาธิบดี Joko Widodo และนาย Muhammad bin Salman al-Sau นายกรัฐมนตรีแห่ง ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งนาง Retno Marsudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า นาย Erick Thohir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ นาย Dito Ariotedjo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา นาย Pramono Anung เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนาย Rycko Amelza Dahniel หัวหน้าสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ พระราชวังยามามาห์กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย
การลงนาม MOU ฉบับนี้ เป็นการติดตามผลกระบวนการหารือแผน MOU สําหรับความร่วมมือระหว่าง BPJPH และ SFDA ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม BPJPH และ SFDA ได้จัดการอภิปรายเกี่ยวกับการสรุปร่าง และขอบเขตของ MOU ประกอบด้วยข้อตกลงระหว่าง BPJPH และ SFDA ในเรื่อง 1) การพัฒนาขั้นตอนการประเมินความสอดคล้อง ข้อกำหนดมาตรฐาน และกฎระเบียบทางเทคนิคในการออกใบรับรองฮาลาล 2) การรับรู้และยอมรับใบรับรองฮาลาลที่ออกโดย BPJPH และ SFDA สําหรับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศ 3) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ องค์ความรู้ด้านการฝึกอบรม การวิจัย และการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของผลิตภัณฑ์ฮาลาล และ 4) ความร่วมมืออื่นๆ ที่ตกลงตามบันทึกความเข้าใจนี้ ซึ่ง MOU ดังกล่าวมีอายุสองปีนับจากวันที่ลงนามและสามารถขยายเวลาได้ตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ นาย Aqil กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลระหว่าง BPJPH และ SFDA มีบทบาท สำคัญในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอินโดนีเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานานในด้านต่างๆ การทำงานร่วมกันในการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลระหว่าง BPJPH และ SFDA จะมีผลกระทบเชิงบวกในการเสริมสร้างระบบนิเวศฮาลาลของแต่ละประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของผลิตภัณฑ์ฮาลาลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ อินโดนีเซียให้ความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างบทบาทของภาคผลิตภัณฑ์ฮาลาลในระบบนิเวศฮาลาลระดับโลก เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของอินโดนีเซียในการเป็นศูนย์กลางฮาลาลระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ความเคลื่อนไหวด้านการเกษตรในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำเดือนตุลาคม 2566 https://www.opsmoac.go.th/jakarta-news-preview-452891792503
ที่มา : ฝ่ายเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สรุปโดย : มกอช.