เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ในงานสัปดาห์วิจัยน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย (National Palm Oil Industry Confronts Global Technology Innovation Challenges - PERISAI) ประจําปี 2566 รัฐมนตรีช่วยด้านอาหารและเกษตรกรรมของอินโดนีเซีย (Deputy Minister for Food and Agriculture) เปิดเผยว่ารัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ในระหว่างเตรียมกลยุทธ์เพื่อจัดการกับการดําเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทําลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation-Free Regulation - EUDR) เพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาที่ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มละเลยเรื่องความยั่งยืน
แผนกลยุทธ์แรกคือการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับประธานาธิบดี (Presidential Regulation) ฉบับที่ 44 ปี 2565 ที่ว่าด้วยเรื่องระบบการรับรองสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนของอินโดนีเซีย (The system of Indonesian sustainable palm oil plantation certification) ซึ่งภายใต้ข้อบังคับนี้ระบุว่า ธุรกิจจําเป็นต้องได้รับใบรับรองน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของอินโดนีเซีย (ISPO) ดังนั้น รัฐบาลวางแผนที่จะขยายข้อบังคับเพื่อรองรับข้อกําหนดด้านความยั่งยืน กลยุทธ์ที่สอง รัฐบาลกําลังพัฒนาสํานักหักบัญชี (Clearing House) เพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในการตระหนักถึงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ ยังชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะทํางานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตาม EUDR ที่อินโดนีเซียและมาเลเซียกำลังเผชิญอยู่ เพื่อ 1) ช่วยให้อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสหภาพยุโรปบรรลุความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกฎระเบียบดังกล่าว โดยอินโดนีเซียได้จัดการประชุมคณะทํางานร่วมครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการคัดค้านการกีดกันเกษตรกรรายย่อยในกิจกรรมการค้าระหว่างอินโดนีเซียและสหภาพยุโรป และ 2) โครงการความยั่งยืน (Sustainability Scheme) ซึ่งอินโดนีเซียได้ดําเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 และต้องการให้สหภาพยุโรปยอมรับความพยายามที่ยั่งยืนของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ การประชุมคณะทํางานร่วมครั้งที่ 2 มีกําหนดที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้ โดยกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและสํานักงานเลขาธิการของสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Oil Producing Countries - CPOPC) จะเป็นผู้จัดการประชุมต่าง ๆ เพื่อเสนอแนะและแก้ไขปัญหา
ที่มา : ฝ่ายเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สรุปโดย : มกอช.