เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงเกษตรบราซิลได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในสัตว์ออกไปอีก 180 วัน เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงในนกป่าเพิ่มมากขึ้น โดยไวรัสยังไม่แพร่กระจายไปสู่ฝูงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ซึ่งหมายความว่าบราซิลยังคงเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะปลอดไข้หวัดนก
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรบราซิล กล่าวว่า “การต่อสู้กับไข้หวัดนกเป็นประเด็นที่ทุกคนควรให้ความสนใจ เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ และการขยายเวลาจะช่วยให้เรามีความปลอดภัยมากขึ้นในการเผชิญกับวิกฤตนี้โดยไม่มีความเสี่ยง”
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ได้มีการยืนยันการพบไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงครั้งแรกในนกป่า โดยบราซิลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในสัตว์เป็นครั้งแรกในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้หวัดนกส่งผลกระทบต่อการผลิตสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเพื่อปกป้องประชากรสัตว์และสุขภาพของประชากรในประเทศ และจนถึงขณะนี้บราซิลยืนยันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์จำนวน 139 ตัว ซึ่งรวมถึงนกป่า สัตว์ปีกเพาะเลี้ยง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
บราซิลถือเป็นประเทศผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก และเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ญี่ปุ่นได้สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ของบราซิลจากรัฐ Espirito Santo ชั่วคราว และในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ก็ได้ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากรัฐ Santa Catarina
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.