ตั้งแต่ปี 2566 รัฐบาลบราซิลได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนช่วยฟื้นฟูป่าอเมซอนโดยให้สัมปทานเพื่อปลูกทดแทนพื้นที่ป่าประมาณ 12 ล้านเฮกตาร์ (120,000 ตารางกิโลเมตร)
รัฐบาลบราซิลมองหาการให้สัมปทานเอกชนใช้ที่ดินของรัฐบาลกลางเพื่อปลูกต้นไม้พื้นเมืองที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้มะฮอกกานี หรือผลิตสินค้าอื่น ๆ เช่น เมล็ดน้ำมันจากพืช เส้นใย เรซิน ตลอดจนโครงการคาร์บอนเครดิตโดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30-40 ปี และล่าสุดได้จัดทำร่างแผนเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าในอเมซอนภายในปี 2573 โดยเริ่มจากการให้สัมปทานที่ดินเขตอนุรักษ์ในป่าอเมซอนของรัฐบาลก่อน หลังจากนั้นจึงจะขยายออกไปยังพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง หรือเขตคุ้มครองอื่นๆ นอกจากนี้ การประชุมขององค์กรสนธิสัญญาความร่วมมืออเมซอน (ACTO) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ รวมถึงบราซิล โคลอมเบีย และเปรู ได้มีการหารือถึงนโยบาย เป้าหมาย และจุดยืนร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศกว่า 130 ประเด็น ตั้งแต่การจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไปจนถึงการรวมกลุ่มของชนพื้นเมือง
ป่าอเมซอนเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ช่วงตั้งแต่ปี 2562-2565 ป่าได้ถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของอเมซอน เช่น การขุด การทำการเกษตร แต่การศึกษาทำให้เห็นว่าป่าไม้สามารถยืนหยัดและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้เองตามธรรมชาติ
ที่มา : Reuters; https://www.reuters.com/world/americas/brazil-courts-private-sector-help-reforest-amazon-minister-says-2023-08-07/ สรุปโดย : มกอช.