กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) จะถ่ายโอนอำนาจด้านการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร (เช่นการกำหนดค่า MRLs) จากกระทรวงสาธารณสุขฯ ไปยังสำนักงานกิจการผู้บริโภค (Consumer Affairs Agency: CAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นโดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยอำนาจและภารกิจด้านการกำกับดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร (รวมถึงการตรวจและอนุญาตอาหารนำเข้า) จะยังคงอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขฯ และหน่วยงานประเมินความเสี่ยงยังคงเป็น Food Safety Commission of Japan (FSCJ) ต่อไปตามเดิม ทั้งนี้ ช่องทางการค้นหามาตรฐานอาหารและค่าสารตกค้างสูงสุด (MRLs) ยังคงสามารถตรวจสอบได้ที่ The Japan Food chemical Research Foundation: https://www.ffcr.or.jp/en/index.html
การถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวเป็นผลมาจากข้อเสนอของคณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ COVID-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เสนอแนะให้ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลในการเตรียมพร้อมกับโรคระบาดในทุกสถานการณ์เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในได้อนาคต โดยสำหรับอำนาจด้านการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร ได้มีข้อเสนอให้ถ่ายโอนออกจากกระทรวงสาธารณสุขฯ เพื่อเป็นการลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขฯ โดยให้ย้ายอำนาจไปยัง CAA ซึ่งกำกับดูแลด้านฉลากและการโฆษณาอาหารอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เนื่องจากสามารถนำเอาประเด็นปัญหาจากผู้บริโภคมาเชื่อมโยงการกำหนดมาตรฐานได้รวดเร็ว และยังส่งผลให้ผู้รับผิดชอบหลักด้านมาตรฐานอาหารสากล (มาตรฐาน Codex) มารวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mhlw.go.jp/hourei/doc/tsuchi/T230530I0030.pdf (ภาษาญี่ปุ่น)
ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1/ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว สรุปโดย : มกอช.