นักวิเคราะห์ของบริษัทปุ๋ยในอินเดียกล่าวว่า จีนได้กักปุ๋ยยูเรียที่บริษัทซื้อมาประมาณ 500,000 ตัน ไว้ที่ท่าเรือเทียนจินเพื่อรอการตรวจสอบจากศุลกากร และจํากัดการส่งออกปุ๋ยเคมีที่สําคัญ คาดว่าความพยายามที่จะชะลอการส่งสินค้าของจีนในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย รวมถึงราคาปุ๋ยยูเรียล่วงหน้าในตลาดสินค้าเจิ้งโจวพุ่งสูงขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม แตะระดับ 2,600 หยวนต่อตัน (ประมาณ 12,600 บาท)
จีนมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของอุปทานปุ๋ยไนโตรเจนทั่วโลก และยังเป็นผู้ผลิตปุ๋ยยูเรียรายใหญ่ที่สุดของโลก การควบคุมการส่งออกของจีนในครั้งนี้จะทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออินเดียในเรื่องค่าใช้จ่ายการนำเข้าปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย ซึ่งอินเดียได้นำเข้าปุ๋ยประมาณ 30% จากทั้งหมด 35 ล้านตัน ในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมของอินเดีย คาดว่าอุปทานปุ๋ยจากโอมาน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และรัสเซีย จะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้
โดยก่อนหน้านี้ หนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของจีนได้ออกมากล่าวว่า “บริษัทจะลดการส่งออกปุ๋ยในเชิงรุก และจะทำทุกวิถีทางเพื่อรับรองเสถียรภาพด้านอุปทานและราคาปุ๋ยภายในประเทศ” เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของจีนที่ออกมาเรียกร้องให้จัดหาปุ๋ยยูเรียให้กับตลาดในประเทศก่อน โดยหลังจากการประกาศของทั้ง 2 บริษัท ทำให้ราคาปุ๋ยยูเรียล่วงหน้าของจีนลดลงทันทีประมาณ 4%
ที่มา : Reuters สรุปโดย : มกอช.