กรมประมงมาเลเซียยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้าปลาทะเลมีชีวิตจากญี่ปุ่น หลังจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยทางกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซีย กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้าจากญี่ปุ่น
สำหรับผลิตภัณฑ์ประมงที่ไม่มีชีวิตจากญี่ปุ่น ทางกระทรวงฯ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจสอบและกักกันแห่งมาเลเซีย สำนักงานพัฒนาประมงแห่งมาเลเซีย เพื่อติดตามความปลอดภัยของอาหารอย่างใกล้ชิด รวมถึงการตรวจสอบใบรับรองด้านสุขภาพและตรวจสอบรังสีระหว่างการนำเข้าในภายหลัง
ทั้งนี้ ตามรายงานของสื่อระบุว่า ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่า 1 ล้านเมตริกตัน จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และแผนการปล่อยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ซึ่งประกอบด้วยน้ำจำนวน 7,800 ลูกบาศก์เมตร และจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 17 วัน โดยทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ระบุว่า น้ำที่ปล่อยออกมาจะมีจำนวนไอโซโทปประมาณ 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตร (เบ็กเคอเรล (Becquerel, Bq) หมายถึงหน่วยของกัมมันตภาพรังสี) ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดการดื่มที่องค์การอนามัยโลกแนะนำที่ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ได้ปกป้องการตัดสินใจของตนโดยอ้างว่ามีการปล่อยน้ำอย่างปลอดภัย และได้รับเสียงสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์แห่งสหประชาชาติที่อนุมัติแผนดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าการปล่อยน้ำในครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่า “เล็กน้อย”
ที่มา : malaymail สรุปโดย : มกอช.