จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ระบุว่า ความต้องการข้าวในประเทศเพื่อการบริโภคโดยตรงคาดว่าจะลดลงเหลือ 6.81 ล้านตัน ซึ่งลดลงถึง 100,000 ตันจากปี 2565 และลดลงเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้คาดว่าจะต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ข้อมูลที่เปรียบเทียบได้ในปี 2539 และเนื่องจากความต้องการข้าวที่เป็นอาหารหลักของชาวญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มลดลง ทางกระทรวงฯจึงได้เร่งรัดให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกผลผลิตประเภทถั่วเหลืองและข้าวสาลี รวมถึงข้าวที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ทดแทน
นอกจากนี้กระทรวงฯยังได้เผยแพร่การสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวในปี 2566 โดยแบ่งตามพื้นที่จังหวัด ซึ่งเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จังหวัดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น 24 จังหวัด จาก 47 จังหวัดได้ประเมินว่าพื้นที่ปลูกข้าวของตนจะลดลงมากกว่า 1% จากปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 จังหวัดจากการสำรวจครั้งล่าสุดที่ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน และมีเพียงจังหวัดฟุกุชิมะและโทจิงิเท่านั้นที่คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดที่เหลือยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
โดยนอกจากจำนวนประชากรที่ลดลงแล้ว ปริมาณข้าวโดยเฉลี่ยที่บริโภคต่อคนในญี่ปุ่นที่ลดลงยังส่งผลให้อุปสงค์ของข้าวลดลงอีกด้วย โดยจากรายงานการสำรวจครั้งล่าสุดทางกระทรวงฯได้ระบุว่า การผลิตและการขายข้าวได้เริ่มปรับตัวตามสถานการณ์ความต้องการแล้ว อย่างไรก็ตาม สต๊อกข้าวของภาคเอกชน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ได้ลดลง 210,000 ตัน มาอยู่ที่ 1.97 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการข้าวในภาคอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ฟื้นตัวหลังจากมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19
โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่สินค้าคงเหลือลดลงเหลือ 1.8 – 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้ราคาข้าวทรงตัว และคาดว่าในสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จะมีสินค้าคงเหลืออยู่ที่ 1.84 ล้านตัน
ที่มา : The Japan Times สรุปโดย : มกอช.