ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณหมึกที่กองเรือเปรูสามารถจับได้อยู่ที่ 476,500 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 150% ส่งผลให้การจับหมึกกลายเป็นการทำประมงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของเปรูรองจากการจับปลากะตัก โดยการตกหมึกส่วนมากจะอยู่ที่เมือง Paita ซึ่งมีการจับไปแล้วถึง 359,700 ตัน คิดเป็น 75% ของการประมงในประเทศปีนี้
หมึกที่จับได้ 94.8% ถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แช่แข็งเพื่อส่งออก ในขณะที่ 5.2% ถูกนำเข้าสู่ตลาดในประเทศเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สด โดยมีราคาต่ำกว่าปีที่แล้วประมาณ 16.5% ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ การจับหมึกในเปรูกำลังมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการจัดหาวัตถุดิบให้กับผู้แปรรูป โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 การประมงหมึกคิดเป็น 13.4% ของปริมาณภาคการประมงทั้งหมดในเปรู และจากการที่เรือประมงท้องถิ่นมากกว่า 3,000 ลำ ที่เข้าร่วมประมงหมึก ทำให้เกิดการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตและการตลาดมากกว่า 9,000 ตำแหน่ง และ 24,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ
ที่มา : Fiskerforum สรุปโดย : มกอช.