TH EN
A A A

สวิตเซอร์แลนด์-ลิกเตนสไตน์ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าอาหารญี่ปุ่น

8 กันยายน 2566   

                    เมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 รัฐบาลญี่ปุ่น เผยว่า สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นแล้ว หลังจากมีการบังคับใช้เนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี 2554 
                    โดยหลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าอาหารญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่นอกกลุ่มสหภาพยุโรปจึงได้ยกเลิกข้อจำกัดนี้เช่นกันและจะยกเลิกข้อกำหนดที่ให้มีการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและประมงบางรายการจากจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงฟุกุชิมะด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ประเทศที่อยู่นอกกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ก็ได้ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวนี้ และสมาชิกทั้งหมดของสมาคมการค้าเสรียุโรปก็ได้ยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้แล้วเช่นกัน 
                    ทั้งนี้ การยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีและการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์บางประเภทคาดว่าจะช่วยลดภาระด้านการบริหารจัดการของผู้ผลิตและผู้ส่งออกในจังหวัดฟุกุชิมะรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบอีก 9 แห่ง ได้แก่ มิยางิ ยามากาตะ อิบารากิ กุนมะ นีงะตะ ยามานาชิ นากาโนะ อิวาเตะ และชิซูโอกะ และหลังจากการเคลื่อนไหวของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นจึงวางแผนที่จะจัดตั้งแพลตฟอร์มสนับสนุนการส่งออกแห่งใหม่ในกรุงบรัสเซลส์เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ผลิต และในเดือนกันยายน 2566 ทางกระทรวงฯได้วางแผนที่จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาหารญี่ปุ่น รวมถึงอาหารที่ผลิตในฟุกุชิมะ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศ
                    อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเป็นประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานฟุกุชิมะตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และได้เพิ่มความเข้มงวดในการทดสอบสารกัมมันตภาพรังสีสำหรับการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น
                    อนึ่ง สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และสิงคโปร์ได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นทั้งหมดในปี 2564 ในขณะที่สหราชอาณาจักรและอินโดนีเซียยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวในปี 2565

 

ที่มา : The Japan Times สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?