เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้เผยแพร่รายชื่อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประกอบด้วยอาหารนำเข้าทั้งหมด 226 ชุด จาก 33 ประเทศ/ภูมิภาค โดยอาหารนำเข้าที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น (22.1% ส่วนใหญ่เป็นขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม) รองลงมาคือไต้หวัน (11.5% ส่วนใหญ่เป็นผลไม้แปรรูป) และสหรัฐอเมริกา (7.1% ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ) โดยมีสาเหตุหลักของการปฏิเสธการนำเข้า ได้แก่ ขาดเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็น (23.5%) สินค้าไม่ตรงตามใบรับรอง (16.9%) การติดฉลากที่ไม่เหมาะสม (16.4%) ขาดการตรวจสอบและใบอนุญาตกักกัน (13.8%) และการใช้วัตถุเจือปนอาหาร/สารเสริมอาหารเกินขนาด (8.4%)
รายงานกักกันที่น่าสนใจ:
1. ผลิตภัณฑ์นม
ศุลกากรจีนปฏิเสธผลิตภัณฑ์นม 3 ชุด โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์นมผงจากนิวซีแลนด์ 2 ชุด เนื่องจากมีการใช้วิตามินเอในการเสริมคุณค่าทางโภชนาการมากเกินไป และนมผงเข้มข้นพร่องมันเนย 1 ชุดจากสหรัฐฯ ขาดเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็น
2. ขนม
ศุลกากรจีนปฏิเสธผลิตภัณฑ์ขนม 14 ชุด โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลนม (น้ำตาลแล็กโทส) 1 ชุดจากออสเตรเลีย และผลิตภัณฑ์ขนม 13 ชุดจากญี่ปุ่น และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ ที่มาจากญี่ปุ่นอีกมากมายก็ถูกปฏิเสธโดยศุลกากรจีนเช่นกัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็ประสบกับความล่าช้าในพิธีการทางศุลกากร ซึ่งทางกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อว่าการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นของจีนนั้นเกิดจากการที่ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำเสียที่มีกัมมันตภาพรังสีในฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาศุลกากรจีนยังได้ระบุว่า “จะยังคงห้ามนำเข้าอาหารจาก 10 เมือง รวมถึงฟุกุชิมะ และจะตรวจสอบเอกสารประกอบที่แนบมากับอาหารจากภูมิภาคอื่นๆ ของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ”
ประกาศ GACC: http://jckspj.customs.gov.cn/spj/xxfw39/fxyj47/4677516/5175099/index.html
ที่มา : GACC/foodchemlinked สรุปโดย : มกอช.