Ahmadreza Seyed Alian ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานปรับปรุงโภชนาการอาหารสัตว์ ระบุว่า ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวอิหร่านลดลง 20% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันอิหร่านสร้างของเสียจากการเกษตรประมาณ 26 ล้านตัน ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ มีการประมาณการว่าอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนต้นทุนถึง 70% ของต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์ปีก ดังนั้นแนวทางนี้จึงถือว่ามีความสำคัญในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารของอิหร่าน
อนึ่ง ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานปรับปรุงโภชนาการอาหารสัตว์ ได้อ้างว่า การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ยังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงเนื่องจากผลิตภัณฑ์บางส่วนที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์นั้นยังไม่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ นอกจากนี้ทางหน่วยงานยังต้องการเฉพาะของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
โดยปัจจุบันอิหร่านมีผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรดังนี้
- ท่อนอ้อย 3 ล้านตัน
- ต้นอินทผาลัม 2 ล้านตัน
- เปลือกพิสตาชิโอ 600,000 ตัน
- กากส้ม 1.5 ล้านตัน
- กากมะกอกแปรรูป 2 ล้านตัน
ทั้งนี้ อิหร่านกำลังพยายามใช้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรในอุตสาหกรรมสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากประเทศประสบปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์ โดยในปี 2565 อิหร่านนำเข้าวัตถุดิบปศุสัตว์จำนวน 14.3 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2564 อยู่ 19%
ขณะเดียวกันก็ได้มีคำสั่งห้ามการส่งออกอาหารสัตว์ไปต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 โดยระบุว่าใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดจะถูกเพิกถอนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถือเป็นขั้นตอนบังคับเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดในประเทศ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากความผันผวนของราคาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ในทางกลับกัน การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลเสียอย่างมากต่อบริษัทอาหารสัตว์ของอิหร่าน ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาได้เน้นย้ำว่าจำเป็นต้องดำเนินการส่งออกต่อไปเพื่อรักษาการดำเนินงาน เนื่องจากลูกค้าต่างชาติได้เสนอราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาในประเทศ
ที่มา : All About Feed https://www.allaboutfeed.net/market/market-trends/iranian-feed-industry-relies-on-agri-waste-to-mitigate-the-feed-crisis/ สรุปโดย : มกอช.