TH EN
A A A

สหภาพยุโรปเตรียมออกกฎหมายบรรจุภัณฑ์และลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ เน้น 3R-Reduce,Reuse,Recycle

18 เมษายน 2566   

            ในปี ค.ศ. 2020 ประชากรยุโรปทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์โดยเฉลี่ยประมาณ 177 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและในช่วงเวลา 1 ปี ประเทศสมาชิก 27 ประเทศทิ้ง
            ขยะบรรจุภัณฑ์รวมกันปริมาณมากกว่า 79.3 ล้านตัน ดังนั้น หากสหภาพยุโรป(อียู)ไม่รีบเร่งจัดการกับปัญหานี้ภายในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 19 โดยเฉพาะปริมาณขยะพลาสติกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 แม้ว่ากฎหมายห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง(EU Single Use Plastics Directive – EU SUPD)สำหรับผลิตภัณฑ์หลายประเภทมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 แล้วก็ตาม
            เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายสำหรับบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่(EU legislation on Packaging and Packaging Waste)เพื่อรับมือปัญหาปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป โดยมุ่งเน้น 3 แนวทางหลัก ได้แก่
            1)ลดการสร้างขยะ (reduce) กำหนดเป้าหมายให้แต่ละประเทศสมาชิกลดขยะบรรจุภัณฑ์ให้ได้ร้อยละ 15 ต่อประชากร 1 คน ภายในปี ค.ศ. 2040 (เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2018) โดยการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคภายในร้านอาหาร ซองน้ำตาล ซองเครื่องปรุงต่าง ๆ จำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น อาทิ พลาสติกห่อผักและผลไม้ (ฝรั่งเศสนำร่องออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกห่อผักและผลไม้บางประเภทไปแล้ว ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2022) ขวดแชมพูและอื่น ๆ ที่ใช้ในโรงแรม
            2)การนำกลับมาใช้ใหม่ (re-use) ส่งเสริมการใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือเติมได้โดยกำหนดว่าร้อยละ 20 ของจำนวนเครื่องดื่มที่สั่งกลับบ้านที่ขายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งจะต้องบรรจุในภาชนะที่นำมาใช้ใหม่ได้หรือภาชนะที่ลูกค้านำมาเองภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 80 ในปี ค.ศ. 2040 การขายเบียร์ในขวดแบบที่เติมได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของปริมาณที่ขายทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2040 นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ชัดเจนขึ้น
            3)การรีไซเคิล (recycle) กำหนดเป้าหมายให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องรีไซเคิลภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านหลักเกณฑ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระบบค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์(Deposit Return Scheme (DRS))สำหรับขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม(ซึ่งบางประเทศยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ได้เริ่มใช้แล้ว)การติดฉลากให้ชัดเจนว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นควรทิ้งในถังขยะสีใด รวมถึงการกำหนดให้ชัดเจนว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทใดต้องย่อยสลายได้(compostable)เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกทิ้งเป็นขยะชีวภาพได้ นอกจากนี้ อียูส่งเสริมให้เพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลที่ต้องมีอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับกฎหมายEU SUPDที่กำหนดให้ขวดพลาสติกPETใหม่ ต้องมีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อยร้อยละ25ภายในปี ค.ศ.2025 และเพิ่มเป็นร้อยละ30ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นการสร้างตลาดให้แก่พลาสติกรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบทุติยภูมิ
            นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
            • พลาสติกฐานชีวภาพ (biobased plastics) หรือ พลาสติกที่มีส่วนผสมหลักจากพืช กำหนดให้ชีวมวล (biomass) ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพ ต้องมาจากแหล่งยั่งยืนและไม่ทำลายธรรมชาติ และกำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุอัตราส่วนของพลาสติกชีวภาพตามจริง อาทิ “สินค้านี้มีส่วนผสมจากพลาสติกชีวภาพร้อยละ 50” เพื่อป้องกันการฟอกเขียว (greenwashing)
            • พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable plastics) บังคับให้ติดฉลากระยะเวลาและสภาพแวดล้อมที่พลาสติกชนิดนี้จำเป็นต้องใช้ในการย่อยสลาย อย่างไรก็ดี สินค้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งจะไม่สามารถใช้การติดฉลากดังกล่าวได้ เพื่อป้องกันการทิ้งขยะที่ไม่จำเป็น
            • พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม (Industrially compostable plastics) อนุญาตให้ใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายประสิทธิภาพของเศษอาหาร และเมื่อมีการแยกและจัดการขยะชีวมวลที่เหมาะสม อาทิ ถุงชา แคปซูลและถุงกาแฟ สติ๊กเกอร์บนผักและผลไม้ และถุงพลาสติกชนิดบาง โดยต้องมีกลไกการนำกลับมารีไซเคิลและต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อียูกำหนด
            ภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แสดงข้อห่วงกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ โดยชี้เหตุผลคัดค้าน เช่น พลังงานและน้ำที่ต้องใช้เพื่อทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สินค้าฟุ่มเฟือยจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม หากจำเป็นต้องเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวก็อาจทำให้แบรนด์หรูหลายยี่ห้อของยุโรปสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้
            คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า การปรับปรุงกฎหมายบรรจุภัณฑ์นี้ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคบรรจุภัณฑ์ลงเหลือ43ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 จากเดิม 66 ล้านตัน(หากไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย)และลดการใช้น้ำลง 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ แม้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็น่าจะนำไปสู่การสร้างงานใหม่ ๆ และช่วยส่งเสริมเป้าหมายการเป็นกลางทางภูมิอากาศของอียูภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วย


 

ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 4 : สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?