แผนการสร้างฟาร์มหมึกยักษ์แห่งแรกของโลกของบริษัทแห่งหนึ่งในหมู่เกาะ Canary ของสเปน ได้ก่อให้เกิดความกังวลอย่างลึกซึ้งในหมู่นักอนุรักษ์เกี่ยวกับสวัสดิภาพของหมึกยักษ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ การเพาะพันธุ์หมึกยักษ์มีความท้าทายอย่างยิ่งโดยเฉพาะในขั้นตอนการเลี้ยงตัวอ่อนซึ่งมีพฤติกรรมกินเฉพาะสิ่งมีชีวิต รวมทั้งการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เข้มงวด
ปัจจุบันยังไม่มีกฎเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ของหมึก เนื่องจากไม่เคยมีประวัติการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ แต่บริษัทในสเปนได้ประกาศความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์มาตั้งแต่ปี 2562 และตั้งเป้าเพาะเชิงพาณิชย์รอบละ 1 ล้านตัว โดยมีการให้แสงสว่าง และฆ่าโดยใช้น้ำเย็นจัด ในขณะที่มีข้อกังวลว่าหมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในที่มืดและมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวหากเลี้ยงรวมเป็นหมู่
โดยแม้ทางบริษัทจะชี้แจงว่า “จะมีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนการฆ่าด้วยน้ำเย็นจัดนั้นบริษัทจะใช้แนวทางปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด” แต่องค์กรรณรงค์เพื่อเมตตาธรรมในการทำฟาร์มทั่วโลก (Compassion in World Farming: CiWF) และองค์กรพิทักษ์สัตว์ ยังคงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยับยั้งโครงการนี้ทันที และขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งกำลังทบทวนกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ พิจารณาในประเด็นของหมึกยักษ์และแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน นอกเหนือจากสวัสดิภาพของหมึกแล้ว CiWF ยังกังวลเกี่ยวกับน้ำเสียจากฟาร์มที่จะถูกสูบกลับลงสู่ทะเล ซึ่งจะมีไนโตรเจนและฟอสเฟตปริมาณมากจากการขับถ่ายของหมึก แต่บริษัทได้กล่าวว่า น้ำที่เข้าและออกจากโรงงานจะถูกบำบัดก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง ความก้าวหน้ามาตรการสวัสดิภาพสัตว์น้ำทั่วโลกในขณะนี้ที่น่าสนใจ เช่น องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health: WOAH) เคยระบุว่า การฆ่าด้วยน้ำเย็นจัดส่งผลกระทบทางลบต่อสวัสดิภาพของสัตว์น้ำ ด้าน Aquaculture Stewardship Council (ASC) ก็อาจสั่งห้ามวิธีฆ่าปลาและสัตว์น้ำแบบนี้ เว้นแต่ว่าพวกมันจะถูกทำให้หมดสติก่อนเชือด หรือฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐวอชิงตัน ก็มีข้อเสนอห้ามการทำฟาร์มหมึกยักษ์มาแล้วในอดีต ส่วนในฝั่งผู้ซื้อ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหราชอาณาจักรเริ่มสั่งห้ามสินค้าอาหารทะเลที่ใช้น้ำแข็งในการน็อกปลาและสัตว์น้ำแล้ว
ที่มา : BBC News สรุปโดย : มกอช.