การศึกษาของนักวิจัยของ Tulane University ในหลุยเซียนา พบว่าอาหารคีโต (อาหารเน้นบริโภคไขมันมากกว่าคาร์โบไฮเดรต) และอาหารปาลิโอ (อาหารที่สนับสนุนการบริโภคไขมันธรรมชาติ) มีความยั่งยืนต่ำเมื่อประเมินจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งสัมพันธ์กับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อโภชนาการและพลังงานที่ได้รับ โดยเมื่อประเมินเชิงพลังงาน คีโตมีฟุตพริ้นท์ที่ 2.9 กิโลกรัม/1,000 กิโลแคลอรี และปาลิโอที่ 2.6 กิโลกรัม/1,000 กิโลแคลอรี สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ ในขณะที่อาหารวีแกนอยู่ที่ 0.7 กิโลกรัม/1,000 กิโลแคลอรี และการบริโภคที่ได้คะแนนสูงที่สุดในเชิงโภชนาการคือ Pescatarian หรือการบริโภคกึ่งมังสวิรัติที่มีการเสริมโปรตีนด้วยการบริโภคปลา (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.6 กิโลกรัม/1,000 กิโลแคลอรี) ได้คะแนนด้านโภชนาการสูงสุดในขณะที่การบริโภคปกติของอเมริกันชนร้อยละ 86 คือ รับประทานทั้งพืชผักและเนื้อสัตว์ จะได้คะแนนประเมินระดับกึ่งกลาง ทั้งด้านโภชนาการและความยั่งยืน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.2 กิโลกรัม/1,000 กิโลแคลอรี)
เมื่อพิจารณาข้อมูลที่นักวิจัยของ Tulane ใช้ประกอบการตัดสิน พบว่าเป็นการวิเคราะห์คะแนนคุณภาพอาหารโดยใช้ข้อมูลจากอาหารสำหรับผู้ใหญ่กว่า 16,000 รายการ ที่รวบรวมโดยการสำรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พร้อมทั้งศึกษาและกำหนดค่าคะแนนการรับประทานอาหารแต่ละรายการตามดัชนีการกินอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Eating Index: HEI) ของรัฐบาลกลางและคำนวณคะแนนเฉลี่ยสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารแต่ละประเภท โดยมีตัวเลขเผยแพร่ที่น่าสนใจคือ หาก 1 ใน 3 ของผู้รับประทานอาหารทั้งพืชผักและสัตว์ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา หันมารับประทานอาหารมังสวิรัติที่ให้พลังงานเทียบเท่า 2,000 กิโลแคลอรี จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนเทียบเท่ารถยนต์ที่วิ่ง 340 ล้านไมล์ (หรือประมาณ 500 ล้านกิโลเมตร) ในแต่ละวัน
ศึกษาเพิ่มเติม: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0002916523005117
ที่มา : New Food สรุปโดย : มกอช.