TH EN
A A A

ภาครัฐเม็กซิโกจับมือผู้ผลิต ส่งเสริมการฉายรังสีเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับการจัดการศัตรูพืชในผักและผลไม้สด

8 มีนาคม 2566   

                   สำนักงานเลขาธิการการเกษตรและการพัฒนาชนบท (SADER) และสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยและคุณภาพด้านเกษตรและอาหาร (SENASICA) ของเม็กซิโกจัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมอาหารฉายรังสี เพื่อส่งเสริมการฉายรังสีเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับการจัดการศัตรูพืชในผักและผลไม้สดให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย
                   Mr. Víctor Villalobos Arambula เลขาธิการ SADER กล่าวว่า เม็กซิโกถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกสินค้าสดฉายรังสี และรัฐบาลต้องการให้ใช้มาตรการดังกล่าวในสินค้าผลไม้ที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโกมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่คาดว่าจะกลายเป็น exotic fruits ในตลาดหลักของโลก เช่น คาปูลิน (capulin) แครบแอปเปิล (crab apple) เนื่องจากการฉายรังสีจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน ลดระยะเวลาการขนส่งตั้งแต่การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการจำหน่าย และช่วยลดความเสี่ยงศัตรูพืชอย่างเหมาะสม
                   Mr. Javier Calderón Elizalde อธิบดี SENASICA ระบุว่ามาตรการฉายรังสีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางเลือกหนึ่งในการจัดการศัตรูพืช เนื่องจากสามารถยืดระยะเวลาการสุก รักษารสชาติและคุณภาพของผลไม้ได้ แม้อยู่ในที่มีอุณหภูมิสูง อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  
                   Mr. Karla Moctezuma Oaxaca นายกสมาคมอาหารฉายรังสี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสมาคมมีผักและผลไม้ฉายรังสีที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มะม่วง มะเฟือง พริกมันซาโน ทับทิม มะเดื่อหวาน ส้ม ฝรั่ง แก้วมังกร บ๊วย และละมุด โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ยังไม่มีสินค้าใดถูกตรวจพบศัตรูพืชและถูกปฏิเสธ ณ ด่านนำเข้า
                   ปัจจุบัน SADER อยู่ระหว่างจัดทำโครงการเพื่อกำจัด Mediterranean Fruit Fly เพศผู้โดยวิธีการฉายรังสีในมะม่วงและฝรั่ง ที่เมือง Metapa de Domínguez และเมือง Chiapas ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการฉายรังสีในผักและผลไม้สดเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับผู้ผลิตผักและผลไม้รายย่อย เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
                   สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.gob.mx/senasica/prensa/impulsan-agricultura-y-productores-comercio-sano-y-seguro-de-frutos-frescos-327714

ที่มา : กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 3  มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?