เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชิลีตรวจพบไข้หวัดนกประเภทก่อโรครุนแรง (HPAI) ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเป็นรายแรกของประเทศ หลังจากพบสิงโตทะเลหนัก 250 กิโลกรัม เกยตื้นอยู่บนชายหาดทางตอนเหนือของ Antofagasta เนื่องจากมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ทางหน่วยงานได้ระบุว่ามีการพบสิงโตทะเลที่ป่วยด้วยไข้หวัดนกที่สหรัฐฯ และเปรูแล้ว ในขณะที่ชิลีก็มีการตรวจพบการป่วยนี้ในเพนกวินด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้สอดคล้องกับสายพันธุ์ของไวรัสที่ตรวจพบแล้วในนกป่าที่อยู่ใน 11 ภูมิภาคของชิลี และยังพบในประเทศต่าง ๆ เช่น เอกวาดอร์ เปรู โคลอมเบีย เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา อุรุกวัย
ไข้หวัดนกเป็นโรคไวรัสที่สามารถติดต่อได้ทั้งสัตว์ปีกและนกป่า ซึ่งยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้ และมีการตรวจพบเป็นครั้งคราวในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อมนุษย์ต่ำมากก็ตาม เกษตรกรที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในฝูงนกมักจะมีการฆ่าทิ้งทั้งฝูงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมาสำนักงานบริการการเกษตรและปศุสัตว์ของชิลี (SAG) ได้ตรวจพบไข้หวัดนกในนกป่าในตอนกลางของเขต O'Higgins นับตั้งแต่ตรวจพบในนกป่า 21 ชนิด ซึ่งพบว่านกกระทุงได้รับผลกระทบมากที่สุด และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาอาร์เจนตินาและอุรุกวัย ก็ได้ยืนยันการพบไข้หวัดนกในนกป่าเป็นครั้งแรก
ที่มา : The Poultry Site สรุปโดย : มกอช.