TH EN
A A A

จีนต้องสู้! สร้างคอนโดหมู 26 ชั้น เพื่อความมั่นคงอาหาร

14 กุมภาพันธ์ 2566   

                 ด้วยข้อจำกัดการขยายพื้นที่ทางเกษตรกรรมในจีน แต่การผลิตของอุตสาหกรรมสุกรยังคงมีความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ต่อความมั่นคงอาหารในประเทศ ในเมืองเอ้อโจวห่างนครอู่ฮั่น 80 กิโลเมตร ได้มีการก่อสร้าง “คอนโดหมู” ขนาดยักษ์ สูงถึง 26 ชั้น เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของภาคอุตสาหกรรม และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
                 การจัดสรรพื้นที่ในคอนโดหมู รองรับการเลี้ยงตั้งแต่ผสมเทียมจนถึงโตเต็มวัย โดยแยกชั้นตามช่วงวัยต่าง ๆ ของสุกรตั้งแต่พื้นที่สำหรับสุกรตั้งท้อง ห้องสำหรับสุกรแรกคลอด จุดสำหรับให้นมลูกและพื้นที่สำหรับสุกรขุน โดยอาหารจะถูกลำเลียงขึ้นบนสายพานไปยังชั้นบนสุด และติดตามตรวจสอบด้วยกล้องความละเอียดสูงโดยช่างเทคนิคอย่างต่อเนื่อง
                 ราคาเนื้อหมูในจีนได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ และมีการจัดการปริมาณสำรองเนื้อหมูเพื่อคงเสถียรภาพในการผลิตและบริหารจัดการวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามชาวจีนก็ยังต้องบริโภคเนื้อหมูในราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมสุกรรายใหญ่ทั้งในอเมริกาเหนือ ใต้ และยุโรป โดยมีข้อสังเกตว่าจีนยังคงต้องนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองที่เป็นปัจจัยการผลิตในกลุ่มพืชอาหารสัตว์จำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของจีน เช่น ข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐอเมริกา การหยุดชะงักของอุปทานที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด หรือวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย
                 เพื่อตอบสนองต่ออุปทานของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาฟาร์มหมูในรูปแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ปรากฏขึ้นทั่วประเทศจีน โดยฟาร์มในเอ้อโจวถือเป็นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีความประณีตและแม่นยำสูง มีการวัดการให้อาหาร การหมุนเวียนทรัพยากรการผลิต ไปจนถึงการตรวจมูลสุกรและการนำมาผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับกระแสไฟฟ้า
                 ในปี 2562 สภาแห่งรัฐของจีนได้ออกกฤษฎีกาที่ระบุว่าหน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดจำเป็นต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเนื้อหมู รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับฟาร์มสุกรขนาดใหญ่และในปีเดียวกันนั้นปักกิ่งยังกล่าวอีกว่าจะอนุมัติการทำฟาร์มแบบหลายชั้น ซึ่งอนุญาตให้ทำฟาร์มแบบแนวตั้งเพื่อเลี้ยงหมูมากขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ ด้วยความทันสมัยที่มากขึ้นของประเทศจีน ผู้คนหลายร้อยล้านคนได้ย้ายจากชนบทไปยังใจกลางเมือง ในขณะเดียวกันด้วยการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรม ทำให้ฟาร์มขนาดเล็กลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก โดยรายงานของภาคอุตสาหกรรมพบว่าตั้งแต่ปี 2550 จำนวนฟาร์มสุกรทั้งหมดในประเทศจีนที่ผลิตสุกรน้อยกว่า 500 ตัวต่อปีลดลงร้อยละ 75 และในปี 2563 ก็ลดลงเหลือประมาณ 21 ล้านตัว ในปี 2561 การเปลี่ยนแปลงไปสู่ฟาร์มขนาดใหญ่ได้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรับมือการควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (ASF)
                 อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัยตลาดกล่าวว่า หอคอยเลี้ยงหมูและฟาร์มหมูขนาดใหญ่อื่น ๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านโรคระบาดสัตว์ ซึ่งจะยากต่อการป้องกันการแพร่ระบาดหรือการปนเปื้อนในการเลี้ยงขนาดใหญ่ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของสหรัฐฯ เน้นกระจายการเลี้ยงหมูในฟาร์มเพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ

ที่มา : The New York Times  สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?