เจ้าหน้าที่จีนบันทึกการระบาดของเห็ดพิษเกือบ 500 ครั้งในปี 2565 โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 28 ราย ในปีที่ผ่านมา China CDC ได้ตรวจสอบเหตุการณ์เห็ดพิษ 482 ครั้งใน 21 ภูมิภาค ส่งผลให้มีผู้ป่วย 1,332 รายและเสียชีวิตถึง 28 ราย ซึ่งพิษจากเห็ดกำลังกลายเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารที่ร้ายแรงในจีน โดยคาดว่าเกิดจากการบริโภคเห็ดทั่วไปผสมกับเห็ดพิษ เห็ดปนเปื้อน หรือเห็ดบางชนิดที่อาจเป็นพิษเฉพาะบุคคล
เห็ดพิษสามารถเกิดขึ้นในทุกเดือน โดยเกิดมากที่สุดระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้แก่ ยูนนาน เสฉวน ฉงชิ่ง และกุ้ยโจว เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด รองลงมาคือจีนตอนกลางในหูหนาน หูเป่ย์ และเหอหนาน โดยสายพันธุ์เห็ดที่อันตรายที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Amanita exitialis และ Amanita rimosa ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งพบในเอเชียตะวันออกและอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย รองลงมา คือ Russula subnigricans (พบในจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และพบว่าเห็ดสายพันธุ์ Chlorophyllum molybdites (เห็ดหัวกรวดครีบเขียว) เป็นเห็ดที่ก่อให้เกิดพิษมากที่สุด ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 มีการระบุสายพันธุ์เห็ดที่มีส่วนก่อให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ 2 อันดับแรกคือ Chlorophyllum molybdites และ Russula japonica (ชนิดนี้ไม่พบในไทย)
ที่มา : Food Safety News สรุปโดย : มกอช.