เมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอินโดนีเซียกล่าวให้ความสำคัญต่อประเด็นการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) จพยังคงเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสหภาพยุโรปในยุทธศาสตร์อาเซียนและอินโดนีเซียในปี 2566 โดยเน้นย้ำเป้าหมายการบรรลุข้อตกลงการค้าแบบครอบคลุมระหว่างอินโดนีเซียและสหภาพยุโรป (IEU-CEPA) ภายในสิ้นปีนี้ ในฐานะข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ใหญ่เป็นลำดับต้นของอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้ง 2 ภาคี โดยเหลือประเด็นหารือที่ต้องบรรลุ ได้แก่ กฎว่าด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าบุกรุกพื้นที่ป่าของ EU ซึ่งได้รับผลตอบรับในทางลบจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่องค์กรสาธารณะประโยชน์ชี้ ข้อตกลงทางการค้านี้ผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรที่อันตรายต่อทรัพยากรในอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามด้วยหลักปฏิบัติภายใต้ Green Deal จะทำให้อินโดนีเซียได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอาเซียน กล่าวว่า จะใช้วิธีการทางการทูตในทุกระดับช่องทาง เพื่อให้แน่ใจว่าความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนจะไม่เสียหาย โดยเฉพาะการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเลเซียที่เพิ่งขู่ว่าจะมีการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังยุโรป หลังจากที่สหภาพยุโรปมีข้อจำกัดในการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นทั้งอุปสรรคทางการค้าและมาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำมันของสหภาพยุโรป ในปี 2561 โดยสหภาพยุโรปได้ประกาศคำสั่งสั่งด้านพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดให้เลิกใช้เชื้อเพลิงจากการขนส่งจากปาล์มภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นส่วนเพิ่มเติมจากกฎการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป และยังได้กำหนดข้อจำกัดในด้านความปลอดภัยสำหรับสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับน้ำมันปาล์ม ซึ่งแตกต่างจากข้อจำกัดของน้ำมันใส เช่น ถั่วเหลือง ทานตะวัน ทางมาเลเซียและอินโดนีเซียจึงได้ทำการยื่นฟ้องสหภาพยุโรปต่อองค์การการค้าโลกเกี่ยวกับข้อตกลงนี้
ปัจจุบันมาเลเซียและอินโดนีเซียได้มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป โดยการยกระดับมาตรฐานสำหรับการรับรองน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับการปรับปรุงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอาหาร
ที่มา : The Jakarta Post สรุปโดย : มกอช.