TH EN
A A A

สินค้าประมงไทยยังผงาดได้ในตลาดโลก

20 มีนาคม 2551   

              สินค้าประมงไทยเป็นสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของไทยที่ทำรายได้เข้าประเทศโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี  ไทยถือเป็นผู้ผลิตสินค้าประมงส่งออกอันดับสามของโลก รองจากจีน และนอร์เวย์เท่านั้น  แต่ด้วยความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าที่มีมาอย่างยาวนานทำให้ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าประมงส่งออกที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูงเป็นข้อได้เปรียบของไทย

             ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า  ข้อได้เปรียบของไทยคือ คุณภาพ มาตรฐานซึ่งกรมประมงได้วางมาตรการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจนถึงมือผุ้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ สารตกค้างต่างๆ ตรวจสอบสุขอนามัย สุขลักษณะของเรือ ท่าเทียบเรือเพื่อให้สินค้าจากการจับจากธรรมชาติมีความปลอดภัย  หรือในส่วนของการเพาะเลี้ยง ได้จัดทำมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงทั้ง  GAP และ COC และพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง

             อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเริ่มออกมาตรฐานสินค้าเอกชนของตนเองเพื่อเป็นข้อกีดกันทางการค้า เช่น สหรัฐฯ ผู้ที่จะส่งออกกุ้งไปห้างวอลมาร์ทต้องได้มาตรฐาน ACC หรือมาตรฐาน EUREPGAP ของเอกชนสหภาพยุโรปส่งผลต่อประเทศผู้ผลิตโดยตรง กรมประมงจึงเสนอ FAO เพื่อจัดทำ  Aquaculture Certification เป็นแนวทางมาตรฐานการผลิตสินค้าประมงที่ให้เป็นที่ยอมรับเหมือนกันของทุกประเทศซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น   หรือแม้แต่ในระดับภูมิภาคอาเซียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าประมง  ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งการในการจัดตั้งพันธมิตรกุ้งอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าโดยจะรวมทั้งจีน เวียดนาม อินโดเนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

             อธิบดีกรมประมงยอมรับว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล การเพิ่มขึ้นของเรือประมง การใช้เครื่งมือบางชนิดทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ทำให้ขาดความสมดุลของการจับกับทรัพยากรที่มีอยู่  จึงเป็นปัญหาต้องเร่งดำเนินการในการบริการจัดการจำนวนเรือ โดยมีแนวคิดดึงเรือประมงในทะเลไทยออกบางส่วน และหาอาชีพใหม่ให้ชาวประมงทดแทน ตลอดจนปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง  ขณะเดียวกัน การขยายขอบเขตการทำประมงนอกน่านน้ำจะอาศัยการเจรจาและแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน เพื่อมีแหล่งจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉพาะพม่า  ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเคยเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำแหล่งใหญ่ของไทยยังไม่มีความชัดเจนหลังการเปลี่ยนนโยบายเมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็นการร่วมลงทุน

             สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่เลี้ยงกันมากคือกุ้ง คิดเป็น 40% ของการส่งออกสินค้าประมงของไทย หรือราว 80,000 ล้านบาทต่อปี   จะมีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืดเพิ่มขึ้น  แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญ คือต้นทุนการผลิต ทั้งอาหารสัตว์ น้ำมัน  แนวทางหนึ่งที่กรมประมงพยายามดำเนินการ คือ การพัฒนางานวิจัยทั้งด้านพันธุ์ โรคระบาด ควบคู่กับการถ่ายทดเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดอัตราการรอดของสัตว์น้ำ ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย

ที่มา  :  แนวหน้า

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?