TH EN
A A A

นักวิจัยโปรตุเกสดันเปลือกมะเขือเทศสกัดสารต้านจุลชีพ

28 ตุลาคม 2565   

                 เปลือกเปรียบเสมือนเกราะที่ช่วยป้องกันผลจากสภาวะแวดล้อมด้านนอก อาทิ เชื้อโรค และการสูญเสียน้ำ โดยมีชั้นนอกสุดของเปลือกที่เรียกว่า คิวติเคิล (cuticle) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นคิวทิน (cutin) โพลิเมอร์เหล่านี้ช่วยเสริมสร้างคุณสมบัติต้านจุลชีพให้แก่เปลือก และเนื่องจากมะเขือเทศง่ายต่อการลอกเปลือกออกมา จึงใช้มะเขือเทศเป็นตัวอย่างในการศึกษา ประกอบกับโปรตุเกส เป็นผู้แปรรูปมะเขือเทศที่ใหญ่เป็นลำดับสามในยุโรป และกากมะเขือเทศที่ได้จากอุตสาหกรรม มักจะถูกนำไปเป็นอาหารสัตว์
                 ทีมนักวิจัยในโปรตุเกสซึ่งเป็นผู้ผลิตมะเขือเทศอันดับสามของทวีปยุโรป จึงได้มุ่งเน้นการสำรวจศักยภาพของกากมะเขือเทศในการนำมาเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการสกัดคิวตินเพื่อผลิตสารต้านจุลชีพ ผ่านวิธีการที่มีความรวดเร็ว ง่าย และยั่งยืน แตกต่างจากงานวิจัยที่ผ่านมาที่ซับซ้อนและใช้เวลามากกว่า
                 ทั้งนี้ องค์ประกอบของกากมะเขือเทศอาจมีความแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับกระบวนการแปรรูปและวิธีการเพาะปลูก โดยทีมวิจัยได้นำตัวอย่างกากมะเขือเทศมาจาก 2 แหล่ง พบว่าสารที่สกัดได้ สามารถนำมาผ่านกระบวนการ เพื่อให้ได้สารผสมที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้ โดยสารผสมที่ได้จากทั้งสองตัวอย่าง มีประสิทธิผลในการต้านทาน Staphylococcus aureus และ Escherichia coli อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในการต้านทาน E. coli ของสารที่ได้จากตัวอย่างทั้ง 2 แหล่ง ยังคงมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในกาก และนักวิจัยคาดว่าในอนาคต สารผสมที่มีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพนี้ จะสามารถนำไปใช้กับวัสดุชีวภาพได้

ที่มา : Freshplaza   สรุปโดย : มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?