นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Eastern Finland วิจัยการเคลื่อนย้ายของไมโครพลาสติกด้วยการทดสอบแบบจำลองห่วงโซ่อาหารโดยกำหนดสินค้าพืชเป็นผักกาดหอม แมลงชนิดที่วิจัยเป็นแมลงวันทหารเสือหรือแมลงวันลาย (Black Soldier Fly, Hermetia illucens) และขยะพลาสติกที่พบทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น โพลีสไตรีน (PS) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC)
ต้นผักกาดหอมที่สัมผัสกับนาโนพลาสติกผ่านดินที่ปนเปื้อนขยะพลาสติกเป็นเวลา 14 วัน ถูกเก็บเกี่ยวมาให้เป็นอาหารแก่ตัวอ่อนหนอนแมลงวันลายเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่จะนำไปให้ปลาบริโภคเป็นเวลา 5 วัน แล้วนำทั้งพืช หนอน และปลาไปวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด พบว่าเกิดการสะสมไมโครพลาสติกในใบพืช โดยมีสัดส่วนของ PVC สูงกว่า และสามารถส่งต่อไปยังหนอน BSFL และปลาได้ โดยในส่วนของปลา มีการสะสมทั้งในเนื้อเยื่อเหงือก ตับ และลำไส้
หนอน BSFL ถือเป็นแหล่งโปรตีนอาหารสัตว์ที่ได้รับการให้ความสำคัญทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำหน้าที่เป็น Decomposer ในการกำจัดขยะอินทรีย์ได้หลายชนิด แต่หากจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ จำเป็นต้องผ่านการกำกับดูแลตั้งแต่วัตถุดิบอาหารที่ใช้เลี้ยง ต้องทราบแหล่งที่มาและ/หรือตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อนสิ่งที่อาจเป็นอันตรายหรือสารพิษตกค้างจากสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อปศุสัตว์และมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
ที่มา : The Fish Site สรุปโดย : มกอช.