TH EN
A A A

มกอช. ขยายเวลารับความเห็นปรับปรุงเว็บไซต์ SPSTHAILAND

12 กันยายน 2565   

                  ด้วยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะศูนย์ประสานกลางด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) สำหรับสินค้าเกษตรและอาหารภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงเว็บไซต์แจ้งเวียนมาตรการ SPS/TBT: https://www.spsthailand.net เพื่อให้เป็นช่องทางเผยแพร่มาตรการแจ้งเวียนและรับความคิดเห็นสาธารณะอย่างโปร่งใสตามหลักการของ WTO และรองรับการเข้าร่วมหรือยกระดับกรอบความตกลงการค้าที่ไทยเป็นสมาชิกหรืออยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วม เช่น RCEP ASEAN-CANADA หรือ CPTPP ซึ่งมีข้อบทเกี่ยวกับการเปิดช่องทางรับข้อคิดเห็นสาธารณะและเผยแพร่สรุปความเห็นอย่างเป็นทางการ

                  ทั้งนี้ การปรับปรุงเว็บไซต์ spsthailand.net มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย สามารถติดตามบอกรับข้อมูลมาตรการ SPS และ TBT ในกลุ่มสินค้าหรือประเทศที่สนใจ ตลอดจนถึงให้ความเห็นต่อมาตรการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยมีฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานแจ้งมาตรการของประเทศและรับแจ้งมาตรการของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (National Notification Authority:NNA) และเป็นหน่วยตอบข้อซักถาม (National Enquiry Point:NEP)

                  โดยการปรับปรุงเว็บไซต์ spsthailand.net จะเป็นไปตามหลักการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

     1. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 "การดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ฯลฯ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ"

     2. หลักการความโปร่งใสภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของ WTO ซึ่งกำหนดไว้ว่า เมื่อประเทศสมาชิก WTO มีการกำหนด ปรับปรุง ยกร่าง หรือปรับเปลี่ยนมาตรการ SPS ได้แก่ มาตรฐานระบบคุณภาพ เกณฑ์ความปลอดภัย ข้อกำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุด ข้อกำหนดสุขอนามัยพืชและสัตว์ และ TBT เช่น การแสดงฉลากสินค้าหรือมีความเข้มงวดสูงกว่าที่ปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุปสรรคหรือผลกระทบต่อประเทศสมาชิก  หากมิใช่มาตรการฉุกเฉินที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนและมีระยะเวลาจำกัด จำเป็นที่จะต้องแจ้งเวียนให้ประเทศสมาชิก WTO ให้ความเห็นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน ไปยังหน่วยงานหรือช่องทางตอบข้อซักถามของประเทศสมาชิก (NEP)

     3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สามารถสมัครสมาชิกและยกเลิกการบอกรับข่าวสารของทางราชการได้

                  โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ Google Form: https://forms.gle/HMQYv8tLXNB9uYdA6 ได้จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2565

                  อนึ่ง ในส่วนของมาตรการ TBT ที่จะแจ้งเวียนภายใต้ระบบ www.spsthailand.net จะครอบคลุมเฉพาะรหัสพิกัดศุลกากรภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามความตกลง TBT ประกอบด้วยรายการสินค้าตามหมวดหมู่พิกัดอัตราศุลกากร 1-24 (สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป),     28-29 (วัตถุอันตรายทางการเกษตร) 30 (ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์) 31 (ปุ๋ย) และ 40.1 (ยางธรรมชาติ) โดยไม่ครอบคลุมรายการหรือพิกัดอัตราที่กำกับดูแลโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

กลุ่มความตกลงสุขอนามัยฯ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช.

อัลบั้มภาพ

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?