เมล็ดทานตะวัน เป็นเมล็ดพืชน้ำมันแหล่งใหญ่รองจากถั่วเหลืองและคาโนลา นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชใช้สอยประโยชน์ทั้งในครัวเรือน และเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ปริมาณการผลิตน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันทั่วโลกอาจสูงถึง 60 ล้านตัน
ปัจจุบันปริมาณกากเมล็ดทานตะวันที่ได้จากกระบวนการสกัดน้ำมันเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากการนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว บ่อยครั้งมักถูกทิ้งให้เป็นขยะ ด้วยประเด็นปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก รวมถึงกระแสการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และทดแทนด้วยอาหารจากพืช สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งยุโรปจึงจัดตั้งโครงการวิจัยเปลี่ยนกากเมล็ดทานตะวันให้เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือก โดยจะมีทั้งผลิตภัณฑ์แบบไฮบริด (ลูกผสม) คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมทั้งโปรตีนจากพืชและสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนจากพืชเพียงอย่างเดียว ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับแนวคิดการลดขยะให้เป็นศูนย์ และส่งเสริมความยั่งยืนของระบบอาหาร
การผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกแบบไฮบริดนี้ บวกกับการปรับปรุงคุณลักษณะทางประสาทสัมผัส เช่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส ของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการศึกษากลุ่มผู้บริโภคเกี่ยวกับทัศนคติ และการยอมรับต่อเนื้อสัตว์ทางเลือก อาจเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถหันไปบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชได้มากขึ้น
ที่มา : FOODNAVIGATOR สรุปโดย : มกอช.