คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Delegated Regulation (EU) 2022/932 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบควบคุมสารปนเปื้อน (contaminants) ในอาหาร ใน EU Official Journal L 162/13 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กำหนดอัตราความถี่ขั้นต่ำในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารประจำปี โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องทำการสุ่มตรวจในสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรปและที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรป ภายใต้แผนควบคุมระดับชาติหลายปี (Multi-Annual National Control Plan : MANCP) ตามบัญชีรายชื่อสินค้าอาหารกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทำการสุ่มตรวจสารปนเปื้อน และประเภทของสารปนเปื้อนที่ต้องการทำการสุ่มตรวจ ที่ปรากฏใน Commission Delegated Regulation (EU) 2022/931 ภาคผนวก I และเกณฑ์กลยุทธ์การสุ่มตัวอย่าง ที่ปรากฏใน Commission Delegated Regulation (EU) 2022/931 ภาคผนวก II
2. คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดอัตราความถี่ขั้นต่ำประจำปีในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป และนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป ดังนี้
2.1) ภาคผนวก I : อัตราความถี่ขั้นต่ำประจำปีในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ครอบคลุมสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป นอกเหนือจากสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ที่ส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป สินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศสมาชิก สินค้าอาหารนำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ สินค้าอาหารที่ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ที่ส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป และสินค้าคอมโพสิตทั้งที่ผลิตได้ในสหภาพยุโรปและที่นำเข้าจากประเทศที่สาม
2.2) ภาคผนวก II : กำหนดอัตราความถี่ขั้นต่ำประจำปีในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในสินค้าอาหารที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ครอบคลุมสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ที่ส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป และสินค้าประมงที่อยู่บนเรือ (การตรวจสอบกระทำบนเรือ) ในกรณีที่เรือมาพัก ณ ท่าเรือ (port) ของประเทศสมาชิก
3. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย : สหภาพยุโรปกำหนดการสุ่มตรวจในสินค้าอาหารที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรป ที่อัตราความถี่ขั้นต่ำที่ร้อยละ 1 ของสินค้าที่นำเข้า (imported consignments) ตามภาคผนวก II โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
(1) สินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ ต้องทำการสุ่มตรวจสารปนเปื้อน ได้แก่
- เนื้อสัตว์ปีกที่ไม่ได้แปรรูป (รวมถึงเนื้อ เนื้อบด เครื่องในที่บริโภคได้ เนื้อปรุงแต่ง และผลิตภัณฑ์เนื้อ)
- ไข่ (รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์ไข่จากสัตว์ปีกทุกชนิด)
- น้ำผึ้ง (รวมถึงน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งอื่นๆ)
- สินค้าประมงที่ไม่ได้แปรรูป (ยกเว้นครัชเตเชียน)
- ครัชเตเชียน และมอลลัสก์สองฝา (รวมถึงเนื้อส่วนกล้ามเนื้อ และผลิตภัณฑ์เนื้อส่วนกล้ามเนื้อ) เป็นต้น
(2) สินค้าแปรรูปที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ เช่น เจลาติน และคอลลาเจน สหภาพยุโรปกำหนดให้การสุ่มตรวจตามอัตราความถี่ขั้นต่ำอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของประเทศสมาชิก โดยประมวลจากปัญหาที่เคยถูกตรวจพบการปนเปื้อนและปริมาณสินค้าที่นำเข้า
4. กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องนำส่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากแผนควบคุม (control plans) นี้ ให้แก่หน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : ESFA) ทราบภายในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี
กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565) และให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://agrithai.be/regulation/สหภาพยุโรปกำหนดแนวทางหรือ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32022R0932&from=EN
ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป สรุปโดย: มกอช.