มหาวิทยาลัยบอนน์แห่งเยอรมนีได้เผยแพร่มุมมองต่อผลการศึกษาผลกระทบของการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยมีข้อกังวลที่สำคัญได้แก่ การใช้ที่ดินและน้ำในการผลิตมากกว่าอาหารจากพืช ผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ พลเมืองในสหภาพยุโรปบริโภคเนื้อสัตว์ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่การเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเนื้อนั้นสร้างความเสียหายทั้งต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ถ้ามนุษย์ทุกคนบนโลกบริโภคเนื้อสัตว์เทียบเท่ากับชาวยุโรปหรือเมริกาเหนือ ความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอาจไม่ประสบผลสำเร็จและระบบนิเวศอาจพังทลายลง เหล่านักวิจัยจึงเรียกร้องให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งพวกเขาต้องการให้ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงร้อยละ 75 หรืออาจลดลงจนถึง 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปีหรือต่ำกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกลุ่มหนึ่งยังให้ทรรศนะเกี่ยวกับความท้าทายและความจำเป็นของการปศุสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่สามารถผลิตพืชที่เป็นแหล่งโปรตีนได้เพียงพอ รวมทั้งพื้นที่ที่ประชากรยังต้องพึ่งพาโปรตีนจากสัตว์หรือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยมีข้อเสนอว่าประเทศรายได้สูงที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณสูงอาจใช้แนวทางเพิ่มภาษีเนื้อสัตว์ร่วมกับการพัฒนาบทเรียนว่าด้วยการบริโภคที่ยั่งยืนในสถานศึกษาระดับโรงเรียนเป็นการเพิ่มเติมได้ด้วย
ที่มา : New Food Magazine สรุปโดย : มกอช.