วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกากำลังผลักดัน American Beef Labeling Act หรือ รัฐบัญญัติว่าด้วยฉลากเนื้อโคที่ผลิตในสหรัฐฯ ให้แสดงข้อมูลของสินค้าเนื้อสัตว์ที่ต้องติดฉลากบังคับแหล่งกำเนิดสินค้าครอบคลุม เนื้อโค และเนื้อโคบด โดยติดฉลาก “Product of the USA” ให้ชัดเจนว่า เป็นเนื้อที่ได้จากสัตว์ที่เกิด เลี้ยง เชือด และแปรรูปบรรจุภัณฑ์ในสหรัฐฯ ตลอดกระบวนการ โดยให้เหตุผลสนับสนุนว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคในสหรัฐฯ กำลังถูกตัดราคาจากคู่แข่งต่างชาติ และรัฐบาลควรมีทิศทางดำเนินนโยบายการค้าเพื่อสนับสนุนเนื้อโคที่ผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ หลักการของร่างกฎหมายนี้ เป็นการนำหลักการของระเบียบการติดฉลากแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin Labeling: COOL) กลับมาบังคับใช้กับเนื้อโคอีกครั้งหลังจากเคยยกเลิกการบังคับใช้กับสินค้าเนื้อโคไปเมื่อปี 2558 เนื่องจาก คณะอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาททางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ตัดสินว่า COOL เป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าปศุสัตว์จากเม็กซิโกและแคนาดา ส่งผลให้เม็กซิโกและแคนาดาสามารถกำหนดภาษีตอบโต้ทางการสหรัฐฯ รวมกัน ๑.๐๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่ในชั้นของการพิจารณาของวุฒิสภา โดยนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการด้านการเกษตร โภชนาการ และป่าไม้แล้ว
ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น มีแนวโน้มที่ร่างรัฐบัญญัติจะได้รับการผลักดันให้สำเร็จ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองทั้งสองฝ่าย (เดโมแครต และรีพับลิกัน) รวมถึงสมาพันธ์องค์กรท้องถิ่น และเกษตรกรผู้เลี้ยงและผลิตโคเนื้อในสหรัฐฯ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดีเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยกระบวนการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติจำเป็นต้องผ่านอีก 4 ขั้นตอน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งจากข้อกังวลในด้านความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO และเนื่องจากโครงสร้างตลาดภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีอำนาจต่อรองสูงเพียงจำนวนไม่กี่ราย จึงมีโอกาสที่จะได้รับแรงกดดันจากบริษัทแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์เนื้อรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญ เนื่องจากสามารถนำเข้าเนื้อจากทั่วโลกมาแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายในราคาต่ำกว่าผู้ผลิตในประเทศ และปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์ข้างต้น
ที่มา : ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส สรุปโดย : มกอช.