การแก้ไขยีนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เช่น เทคนิค CRISPR สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดลักษณะใหม่ที่ต้องการได้โดยไม่มีการใส่สารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นลงในสิ่งมีชีวิตเป้าหมาย จึงทำให้มุมมองของหลายฝ่ายต่อความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการดังกล่าวผ่อนคลายลง โดยเฉพาะในประเทศที่เดิมมีการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์อยู่แล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) ได้ประเมินและรับรองความปลอดภัยของเนื้อจากวัวที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยการแก้ไขยีนให้สามารถเป็นอาหารของมนุษย์ได้ โดยยีนที่ได้รับการแก้ไขในกรณีนี้เป็นยีนที่ควบคุมลักษณะเส้นขน ทำให้วัวสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ข้อมูลระบุว่าลักษณะดังกล่าวมีอยู่ตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน การแก้ไขยีนนี้จึงได้รับการพิจารณาว่าความเสี่ยงต่อความปลอดภัยอยู่ในระดับต่ำ อนึ่งการรับรองความปลอดภัยของเนื้อวัวแก้ไขยีนในครั้งนี้นับเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ชนิดที่สามที่ได้รับการรับรอง หลังจากปลาแซลมอน AquAdvantage และหมู โดยเนื้อวัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับการประเมินแบบความเสี่ยงต่ำ และคาดว่าจะมีการออกจำหน่ายจริงภายใน 2-3 ปี
ที่มา : foodsafetynews สรุปโดย : มกอช.