TH EN
A A A

มะกัน-อียู หยิบยกประเด็นข้อกังวลกฎรับรองฮาลาลอินโด

10 มีนาคม 2565   

                 ในวาระประชุมคณะกรรมการมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT Committee) ระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2565 สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้หยิบยกประเด็นข้อกังวลทางการค้าจากการบังคับใช้มาตรการฮาลาลของอินโดนีเซีย โดยมีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ร่วมกล่าวสนับสนุน ซึ่งชุดมาตรการฮาลาลดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดตั้งหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (Halal Product Assurance Organizing Agency; BPJPH) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการศาสนา (Ministry of Religious Affairs; MORA) พร้อมทั้งประกาศกฎหมายการรับรองฮาลาล Halal Product Assurance Law No. 33 ประจำปี 2014 (2557) รวมทั้งได้ประกาศกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
     (1) ประกาศกระทรวงการศาสนา เรื่อง การดำเนินการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (The Implementation of Halal Product Assurance) โดยแสดงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการดำเนินการของสินค้าแต่ละประเภท สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2567
     (2) Government Regulation No. 39 ประจำปี 2021 (2564) เรื่อง กระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล ครอบคลุมขั้นตอน ระบบ กระบวนการ และการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลในอินโดนีเซีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2564
     (3) ร่างกฤษฎีกากระทรวงการศาสนา ประจำปี 2021 (2564) เรื่อง ประเภทของสินค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องผ่านการรับรองฮาลาล ตามคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าและองค์ประกอบของวัสดุที่ใช้ในการเตรียมและ/หรือกระบวนการผลิตในการจัดจำแนกประเภท รวมทั้งสิ้น 15 ประเภท ได้แก่ (1) อาหาร (2) เครื่องดื่ม (3) ยา (4) เครื่องสำอาง (5) ผลิตภัณฑ์เคมี (6) ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (7) ผลิตภัณฑ์ดัดแปรพันธุกรรม (8) สินค้าอุปโภคบริโภค (9) บริการโรงเชือดสัตว์ (10) บริการแปรรูปสินค้า (11) บริการเก็บรักษาสินค้า (12) บริการบรรจุภัณฑ์สินค้า (13) บริการการกระจายสินค้า (14) บริการการการจำหน่ายสินค้า และ (15) บริการให้ความช่วยเหลือ (serving service) เพื่อใช้ทดแทนกฤษฎีกากระทรวงการศาสนา No. 464 ประจำปี 2020  (2563) เรื่อง ประเภทของสินค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องผ่านการรับรองฮาลาล
     (4) ระเบียบกระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) No. 57/PMK.05/2021 เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการสาธารณะของหน่วยงาน BPJPH ประกอบด้วย (1) ค่าธรรมเนียมการรับรองฮาลาลสำหรับสินค้าและบริการ (2) ค่าธรรมเนียมการรับรองหน่วยรับรองฮาลาล (3) ค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนสำหรับผู้ตรวจฮาลาล (halal auditor) (4) ค่าธรรมเนียมการฝึกอบรมสำหรับผู้ตรวจฮาลาลและผู้ควบคุมการเชือด (halal supervisor) และ (5) ค่าธรรมเนียมการเสริมสร้างสมรรถนะการรับรองสำหรับผู้ตรวจฮาลาลและผู้ควบคุมการเชือด
     (5) ร่างประกาศกระทรวงการศาสนา (Minister of Religious Affairs) เกี่ยวกับความร่วมมือระดับนานาชาติในการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล และ
     (6) ร่างกฤษฎีกากระทรวงการศาสนาเกี่ยวกับวัตถุที่เป็นข้อยกเว้นจากพันธกรณีว่าด้วยการรับรองฮาลาล ได้แก่ (1) วัตถุที่ได้จากธรรมชาติ (ชิ้นส่วนจากพืช ชิ้นส่วนจากสัตว์ที่ไม่ถูกเชือด สิ่งที่ได้จากกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ และสิ่งที่ได้จากน้ำแร่ธรรมชาติ) ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือกระบวนการทางกายภาพ และเติมสารเสริม (auxiliary substances)วัตถุเจือปนอาหารหรือสารปรุงเเต่งอื่นๆ (2) วัตถุที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการมีส่วนประกอบและ/หรือการปนเปื้อนโดยฮาราม (haram substances) รวมถึงวัตถุที่ได้จากธรรมชาติ เช่นเดียวกับสารและผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่ได้จากการการทำเหมืองแร่หรือสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์สังเคราะห์ และ (3) วัตถุที่ไม่เป็นอันตรายและไม่มีส่วนประกอบของฮาราม ประกอบด้วย สารเคมีที่มีแหล่งกำเนิดจากการทำเหมืองแร่และ/หรือกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ของวัตถุจากธรรมชาติ และสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์สังเคราะห์
                ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นข้อกังวลทางการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นประเด็นแนวทางปฏิบัติที่ขาดความโปร่งใสและ/หรือเลือกปฏิบัติ ในที่ประชุม WTO/TBT Committee มาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 17 ครั้ง หรือมากกว่า 5 ปี ซึ่งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะติดตามพัฒนาการประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สนับสนุนการดำเนินกิจการรับรองฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT)

ที่มา: กลุ่มความตกลงสุขอนามัยฯ มกอช.

บทความนี้มีประโยน์หรือไม่?